น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนต.ค. 2560 ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ 13.1% หรือคิดเป็นมูลค่า 20,083 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน รวม 10 เดือนแรกปี 2560 การส่งออกมีมูลค่า 195,518 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 9.7% สูงสุดรอบ 6 ปี

เป็นผลจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ 9.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน เช่น ยางพารา ขยายตัว 23.5% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 15.6% ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 6.9 % ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 10.5% รวม 10 เดือนแรก กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 14.8%

สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ 13.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 25.9% ผลิตภัณฑ์ยาง 63.2% คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ขยายตัว 13.4% น้ำมันสำเร็จรูป 42.0% รวม 10 เดือนแรก กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 8.9%

นอกจากนี้ ยังพบว่า ตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวในทุกตลาด โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวสูงถึง 14.6% เช่น ตลาดยุโรป ขยายตัว 28.9% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี นับจากเดือนพ.ย. 2555 ขณะที่ 10 เดือนแรกปี 2560 ขยายตัว 8.5% ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 6.3% ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัว 8.5%

ตลาดจีน ขยายตัว 17.2% และเป็นการขยายตัวมากกว่า 2 หลักต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยสินค้าหลัก เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เมล็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ขณะที่ 10 เดือนแรกปี 2560 ขยายตัว 26.5 % ตลาด CLMV ขยายตัว 11.4% เป็นการขยายตัวสูงกว่าสองหลัก ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 ขณะที่ 10 เดือนแรกปี 2560 ขยายตัว 14.1%

ขณะการนำเข้าเดือนต.ค. มีมูลค่า 19,869 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 13.5% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 214 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 10 เดือนแรกปี 2560 การส่งออกมีมูลค่า 195,518 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 9.7% การนำเข้ามีมูลค่า 183,073 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.6% และการค้าเกินดุล 12,445 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2560 ภาพรวมจะขยายตัวถึง 9-10% หรือมูลค่าประมาณ 2.35 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 6% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐ ประกอบกับการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ต้อง ติดตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหรัฐ (เฟด) และความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก และปัญหาความตึงเครียดระหว่างประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน