ทอท. อ่วม 6 เดือนแรกปีงบ 64 ขาดทุน 7 พันล้าน – ลั่นพร้อมรองรับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ทอท. อ่วมขาดทุน7พันล. – นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 2563 – พ.ค. 2564) ปริมาณการจราจรทางอากาศ 6 สนามบิน ของ ทอท. มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 18.33 ล้านคน ลดลง 71.5% เป็นไปในทิศทางเดียวกับจำนวนเที่ยวบิน คือ มีประมาณ 206,000 เที่ยวบินลดลง 51.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (มีผู้โดยสาร 64.20 ล้านคนและเที่ยวบิน 425,800 เที่ยวบิน) เนื่องจากปีงบประมาณ 2564 รัฐของไทยและหลายประเทศสำคัญของโลกยังคงมาตรการการจำกัดการเดินทางทางอากาศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19

ทั้งนี้ ปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่ลดลงส่งผลกระทบให้ผลการดำเนินงานด้านการเงิน รอบ 6 เดือนของปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 – 31 มี.ค. 2564 ขาดทุน จำนวน 7,066.94 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 3,748.03 ล้านบาท และรายได้อื่น 792.13 ล้านบาท รวมรายได้คิดเป็น 4,540.16 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 13,464.40 ล้านบาท และรายได้ภาษีเงินได้ 1,857.30 ล้านบาท

สำหรับโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเริ่มวันที่ 1 ก.ค. 2564 ทอท. มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสารไว้พร้อมแล้ว และเตรียมนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกผู้โดยสารมาใช้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากการเดินทางทางอากาศ ได้แก่ ระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Passenger Processing System : CUPPS) เริ่มนำร่องที่ ทสภ. แห่งแรก ผู้โดยสารไม่ต้องต่อแถวเช็กอินและโหลดสัมภาระ สามารถเช็กอิน ผ่านระบบ CUSS (Common Use Self Service) ผ่านเครื่อง Kios ได้ และเตรียมนำเทคโนโลยี Bio Metric เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการเช็กอิน ซึ่งผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องใช้บัตรโดยสารในการยืนยันตัวตน ในพิธีการตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง พร้อมทั้งระบบ CUBD (Common Use Bag Drop) สำหรับผู้โดยสารโหลดสัมภาระได้ด้วยตนเอง

ระบบติดตามและตรวจนับความหนาแน่นผู้โดยสารแบบ Real time (Passenger Tracking) เริ่มนำร่องที่ ทสภ. ทดม. และ ทภก. ก่อน โดยระบบนี้จะแสดงระยะเวลาที่ผู้โดยสารต้องรอคอยเข้าคิวในพื้นที่ตรวจบัตรโดยสาร ขั้นตอนตรวจค้นผู้โดยสาร และขั้นตอนตรวจหนังสือเดินทาง ทำให้ประเมินเวลาการมาใช้บริการภายในสนามบินได้ สามารถบริหารจัดการกระจายผู้โดยสารไปยังจุดให้บริการที่มีความหนาแน่นน้อยกว่า และช่วยในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ได้ด้วย

นายนิตินัย กล่าวว่า โครงการพัฒนา ทสภ. ระยะที่ 2 มีความก้าวหน้ามากกว่า 95% อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) โดยพิจารณาจากทิศทางการฟื้นตัวของปริมาณการจราจรทางอากาศและความต้องการเดินทางในอนาคต ควบคู่กับการบริหารจัดการอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) สำหรับโครงการพัฒนา ทดม.ระยะที่ 3 เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคนต่อปี อยู่ระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และอยู่ระหว่างการปรับปรุงเอกสารโครงการ เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการจ้างออกแบบได้ในปี 2565

ส่วนโครงการพัฒนา ทชม. ระยะที่ 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็น 16.5 ล้านคน อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการ ซึ่งจะใช้เวลาออกแบบประมาณ 1 ปี และอยู่ระหว่างเสนอรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับแก้ไขให้แก่ คชก. โดยคาดว่าจะเสนอโครงการพัฒนา ทชม. ระยะที่ 1 ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในช่วงต้นปี 2565 และจะเริ่มจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างหลังจากออกแบบแล้วเสร็จ ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี คาดว่าสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569

นอกจากนี้ ทอท. ยังมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non-Aeronautical Revenue) โดยได้ตั้งบริษัทร่วมทุน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AVSEC) บริษัท บริการภาคพื้นท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOTGA) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอร์เรเตอร์ จำกัด (AOTTO) โดยร่วมกับกรมวิชาการเกษตรในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเตรียมเปิดศูนย์ตรวจสอบสินค้าเน่าเสียง่ายก่อนส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยจะปรับปรุงคลังสินค้า 4 ภายในเขตปลอดอากร ทสภ.เป็นศูนย์ตรวจรับรองมาตรฐาน ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างบันทึกข้อตกลง จากนั้น จะก่อสร้างปรับปรุงสถานที่ใช้เวลาประมาณ 4 เดือนและคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการแก่เกษตรกรได้ในช่วงต้นปี 2565

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน