ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เผย เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า หลังพึ่งพาท่องเที่ยวถูกโควิดป่วนหนัก แต่โดยรวมยังมั่นคง ย้ำ ธปท. พร้อมดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้

วันที่ 25 ส.ค.2564 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาถกฐาหัวข้อ “From Resiliency to Recovery and Beyond : Central Bank Policies for an Uncertain World” ในงานสัมมนาออนไลน์ Thailand Focus 2021 ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นตัวมีแนวโน้มที่จะใช้เวลานาน

เนื่องจากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าที่สุด และคาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าการกระจายวัคซีนของไทยจะทำได้ครอบคลุมประชากรส่วนมาก และการฟื้นตัวจะไม่เท่านั้น เห็นได้จากกิจกรรมในภาคส่งออกที่ฟื้นกลับมาเหนือระดับก่อนการระบาด ขณะที่ภาคบริการยังได้รับผลกระทบที่รุนแรงต่อเนื่อง

แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบหนัก แต่เสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงมาตลอด ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงมีจำกัด โดยความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย สะท้อนใน 3 ด้าน ได้แก่

แบงก์ชาติย้ำ

1. เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากไทยมีหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำ ประกอบกับระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังสูงต่อเนื่อง 2. เสถียรภาพด้านสถาบันการเงิน โดยธนาคารพาณิชย์ยังมีงบการเงินที่เข็มแข็ง ช่วยให้ภาคธนาคารยังสามารถรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ และ 3. เสถียรภาพด้านการคลังของประเทศ ไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยรัฐบาลไทยยังสามารถกู้เงินมาดูแลเศรษฐกิจได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมั่นคง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้

อย่างไรก็ดี ธปท. พร้อมที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ โดย ธปท. มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ยั่งยืนขึ้น เช่น การพักหนี้อาจเหมาะสมในระยะสั้น แต่เป็นภาระลูกหนี้ในระยะยาว ธปท. จึงสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถผ่าน พื้นวิกฤติไปได้ด้วยกัน และในระยะถัดไป ธปท. ยังคำนึงถึงโลกหลังโควิด-19 ซึ่งบริบทของเศรษฐกิจทั่วโลกจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น

โดยในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ธปท. อยู่ระหว่างการผลักดันภาคธนาคารพาณิชย์ให้มีการให้เงินกู้อย่างมีความ รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำลังพัฒนาในเรื่องของมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล (disclosure standards) และการพัฒนาในด้านคำนิยามด้านสิ่งแวดล้อม (green taxonomy) เพื่อนำมาใช้ปฏิบัติได้โดยเร็ว

ขณะที่ ด้านดิจิทัลนั้น ธปท. ได้วางรากฐานสำคัญสำหรับระบบชำระเงิน เช่น การทำ QR-Code มาตรฐานในการชำระเงิน และระบบพร้อมเพย์ นอกจากนี้ ธปท. ยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีทาง การเงินด้วย เช่น การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำให้ระบบการเงินของไทยมี ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีต้นทุนที่ต่ำลง และเข้าถึงง่ายขึ้น สามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้อย่าง ยั่งยืน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน