มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ บีทีเอส ยกเลิกบัตรรายเดือนกระทบผู้โดยสาร เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย ถามหวังผลกดดันรัฐต่อสัมปทานหรือไม่ ชวนผู้บริโภคแบน

จากกรณีรถไฟฟ้า บีทีเอส แจ้งสิ้นสุดโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วันทุกประเภท โดยสามารถซื้อหรือเติมเที่ยวเดินทางได้จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2564 เป็นวันสุดท้าย อ้างว่าพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารเปลี่ยนไป มีรูปแบบการเดินทางที่หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้นานแบบเมื่อก่อน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก มีผู้ไม่เห็นด้วยเพราะได้รับความเดือดร้อน

ล่าสุดวันที่ 2 ก.ย.2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ใช้บัตรโดยสารแบบเติมเที่ยวเดินทาง 30 วัน ว่า การยกเลิกดังกล่าวส่งผลกระทบกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งนักเรียน/นักศึกษา และคนทั่วไป การเติมเที่ยวเดินทาง 30 วันจะประหยัดจากราคาปกติค่อนข้างมาก เช่น 1 เที่ยว จากอ่อนนุชถึงหมอชิต ราคา 44 บาท พอเติมเที่ยวเดินทาง 15 เที่ยว จะเหลือ 31 บาท ประหยัดไป 13 บาท เติมเที่ยวเดินทาง 50 เที่ยว จะเหลือ 26 บาท ประหยัดไป 18 บาท หากซื้อจำนวนเที่ยวมากจะก็มีส่วนลดประมาณ 50% ซึ่งรวมแล้วไม่ใช่เงินจำนวนน้อย ๆ หากกลับมาใช้ราคาปกติจึงเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายมากกว่าค่าแรงที่ได้รับ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเห็นว่า การที่รถไฟฟ้าบีทีเอสอ้างถึงพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงไปนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะภายหลังที่รัฐบาลคลายมาตรการวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นจำนวนมาก ถ้าจะประเมินช่วง Work from home ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปนั้นไม่ถูกต้อง เพราะรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นบริการสาธารณะที่ต้องเน้นให้บริการประชาชน ไม่ใช่เน้นแต่ด้านกำไรเพียงอย่างเดียว

ยิ่งในสถานการณ์โควิด 19 ที่ส่งผลให้คนตกงาน หารายได้ไม่ได้ แทนที่ประชาชนจะได้ประหยัดจากบัตรรายเดือน การยกเลิกบัตรรายเดือนจะเป็นการสร้างวิกฤตใหม่ซ้ำเติมค่าครองชีพ และผลักภาระให้กับประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การตัดสินใจของบีทีเอสครั้งนี้ ถือเป็นนโยบายที่เข้าข่ายเอาเปรียบ ผลักภาระให้ผู้บริโภค และหวังผลกดดันรัฐบาลให้ต่อสัญญาสัมปทานใช่หรือไม่ เป็นคำถามที่สังคมต้องการคำตอบจากบีทีเอส

ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการกำกับกรณีนี้อย่างเร่งด่วน เพราะระบบรถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งไม่สามารถใช้กลไกราคาหรือกลไกตลาด กำไร ขาดทุนมาจัดการกำหนดราคาได้ แต่เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องกำหนดนโยบาย กำกับ และดูแลให้ค่าบริการสาธารณะเหล่านี้สอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน เพื่อยึดหลักการเข้าถึงได้ของบริการขนส่งมวลชนของคนทุกคน และคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนและภาระเกินสมควรของผู้บริโภคท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบจากการยกเลิกบัตรรายเดือนของบีทีเอส ขอเชิญชวนให้ผู้บริโภคทุกคนร่วมแสดงพลังไม่สนับสนุนสินค้าและบริการของรถไฟฟ้าบีทีเอส และร่วมกันคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานใหม่จนกว่าจะได้ราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับผู้บริโภคทุกคน เพื่อแสดงเจตจำนงและพลังของผู้บริโภคที่จะไม่ยอมจำนนต่อการเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจแบบนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน