น.ส.อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Ipsos) ผู้วิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค ผู้ให้บริการงานวิจัยรูปแบบ ครบวงจร เปิดเผยถึงผลสำรวจถึงวิกฤตการณ์โควิด-19 4 ระลอก กับการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และทัศนคติ ที่ส่งผลกระทบต่อตลาด เศรษฐกิจ และสังคม ว่า จากการสำรวจเดือนมิ.ย. 2564 ในตลาดสำคัญ 6 ประเทศ ในแถบภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ เวียดนาม และไทย รวม 6 ประเทศ พบว่า ประชาชนทั้งภูมิภาคขาดความมั่นใจในอนาคตด้านการเงิน โดยเฉพาะคนไทย ที่ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวม และมีอัตราสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคคนไทยตกลงอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระลอกที่ 1 ในเดือนมี.ค. 2563 และตกต่ำสุดในระลอก 3 ในปี 2564 ต่อเนื่องกับระลอก 4 โดยความปลอดภัยจากโควิด-19 และความมั่นคงด้านการเงิน เป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกของคนไทย ซึ่งผลสำรวจประมาณ 1 ใน 3 ของคนไทย มองว่าสถานะด้านการเงินของตนเข้าขั้นแย่ และ 80% ของคนไทยระมัดระวังกับจำนวนเงินที่ใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยในปัจจุบัน จะจ่ายเงินเฉพาะกลุ่มสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น 3 กลุ่มสินค้าที่มีการซื้อสูงสุด คือ สินค้าเพื่อนำไปประกอบอาหารที่บ้าน สินค้าทำความสะอาด และกลุ่มของใช้ส่วนบุคคล

ในขณะที่มีการชะลอ และตัดการใช้จ่ายกับสินค้าที่มีมูลค่าสูง อย่าง บ้าน และรถยนต์ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีอัตราลดลงตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3 รวมทั้งการใช้จ่ายที่ลดลงในส่วนของการเดินทาง รับประทานอาหารนอกบ้าน กิจกรรมสังสรรค์ และซื้อของเล่น พร้อมกันนี้การแพร่ระบาดโควิดยาวนานกว่า 18 เดือน ได้เปลี่ยนพฤติกรรมด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคไปอย่างรวดเร็ว โดยหันมาช็อปปิ้งผ่านช่องทางออนไลน์ และ จับจ่ายแบบไร้เงินสด ตลอดจน มองหางานอดิเรกใหม่ๆ ใช้เวลากับครอบครัว ใช้เวลาบนโซเชี่ยลมีเดีย และการเข้าถึงสตรีมมิ่งคอนเทนต์

นอกจากนี้ ผลสำรวจถามถึงเรื่องเร่งด่วนในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า ประเด็นที่คนไทยคาดหวังสูงสุดจากภาครัฐ 5 อันดับแรก คือ 1. มาตรการป้องกันให้ปลอดภัยและพ้นภัยโควิด 2. ควบคุมราคาสินค้าและบริการตลอดจนภาวะเงินเฟ้อ 3. สร้างงานคุ้มครองการจ้างงาน 4. มาตรการการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงินให้ครัวเรือน 5. สร้างงานและคุ้มครองการจ้างงาน ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความเจ็บป่วยทางจิต เป็นเรื่องที่น่ากังวล ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาดูแล จากการประชาชนต้องอยู่ท่ามกลางผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มาเป็นเวลายาวนานต่อเนื่อง ส่งผลให้คนไทยมีอัตราเสียสุขภาพจิตอย่างรุนแรงในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย 50% รู้สึกแย่มากๆ ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สังเกตได้จากอัตราการฆ่าตัวตายสูงเมื่อเทียบกับวิกฤตการเงินต้มยำกุ้ง ในปี 2540 ซึ่งความล่าช้าของวัคซีนและข้อมูลที่ไม่ชัดเจน ตลอดจนข่าวบิดเบือนที่แพร่กระจายขยายวงกว้าง ได้สร้างความเข้าใจผิดในเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ทำให้เกิดการลังเลใจในการรับวัคซีน ขณะที่ประเทศต่างๆ พร้อมใจรับการฉีดวัคซีนทันทีที่ให้บริการ แต่ไทยกลับตรงข้าม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน