วันที่ 30 ก.ย. นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงกรณีกลุ่มแรงงานบริษัทบริลเลียน ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม นัดหมายไปร้องเรียนที่กระทรวงแรงงานในวันที่ 7 ต.ค.ว่า ขอชี้แจงเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของพนักงานบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ซึ่งมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 2564 บริษัทดังกล่าวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จ.สมุทรปราการ ต้องปิดกิจการจากผลกระทบของโรคโควิด ส่งผลให้พนักงาน 1,388 คน ถูกเลิกจ้าง โดยพนักงานตรวจแรงงาน จ.สมุทรปราการ มีคำสั่งให้บริษัทดังกล่าวจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้าง รวมเป็นเงินทั้งหมด 243,537,328.67 บาท เนื่องจากเป็นการปิดกิจการโดยไม่เป็นธรรมกับลูกจ้าง

นายวรรณรัตน์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้จ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนวงเคราห์ลูกจ้าง เป็นเงิน 22 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น โดยจ่ายเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เม.ย.ที่ผ่านมา หรือเพียงไม่ถึง 1 เดือนหลังถูกเลิกจ้าง พร้อมกันนั้นสำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินประกันการว่างงานแก่ลูกจ้าง เป็นเงิน 65 ล้านบาท

นายวรรรัตน์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องคดีความ มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแจ้งความดำเนินคดีอาญากับกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจ ที่สภ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการท้องที่เกิดเหตุ และศาลอนุมัติหมายจับกรรมการผู้จัดการบริษัทแล้ว เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่วนคดีแพ่ง ได้ยื่นฟ้องศาลแรงงานภาค 1 ให้ออกคำสั่งบังคับให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยลูกจ้าง 243 ล้านบาท

รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า อีกด้านได้มอบหมายให้กรมจัดหางาน ดูแลหางานที่ว่างในพื้นที่ จ.สมุทรปราการอีกกว่า 1 พันตำแหน่งที่พร้อมให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเข้าไปสมัครงาน อันเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามทางลูกจ้างเรียกร้องให้นำงบกลางมาชดเชยเยียวยาก่อนแล้วให้กระทรวงแรงงานไปเรียกเก็บจากบริษัท ซึ่งกระทรวงได้สอบถามไปยังกรมบัญชีกลางแล้ว พบว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะขัดต่อระเบียบราชการ

“ทั้งหมดคือสิ่งที่กระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน สั่งการให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องแรงงานที่เดือดร้อน ดังจะเห็นได้ว่าเราทำทุกมิติที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งการเยียวยา หางาน ดำเนินคดีกับนายจ้าง ซึ่งหวังว่าทางตำรวจจะสามารถดำเนินการจับกุมกรรมการผู้จัดการมาได้เพื่อบังคับคดีให้จ่ายเงินชดเชย แต่สิ่งที่ทำไม่ได้เพราะระเบียบไม่ได้เปิดช่อง ก็คือการจ่ายเงินแทนบริษัทเอกชน ซึ่งหวังว่าลูกจ้างคงจะเข้าใจ และที่ผ่านมาก็ได้ชี้แจงให้ทราบความคืบหน้าแล้วหลายครั้ง”นายวรรณรัตน์ กล่าว

ด้านนายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย ประธานกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม กล่าวว่า กรณีดังกล่าว ตนในฐานะประธานกลุ่มแรงงานเพื่อสังคมได้ติดตามเหตุการณ์ เพราะมีกลุ่มแรงงานจำนวนหนึ่งมาร้องเรียนและขอความช่วยเหลือ ซึ่งได้ประสานกระทรวงแรงงาน และให้ความช่วยเหลือ จ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนลูกจ้าง และเงินประกันการว่างงานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการยื่นฟ้องต่อศาลให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องในชั้นศาล ชั้นพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องติดตามจับกุมผู้บริหารบริษัทมาดำเนินคดี ต่อไปไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานแล้ว

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งนำข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้านไปบอกกับแรงงานที่เดือดร้อน ให้มาเรียกร้องกระทรวงแรงงานให้ของบกลาง 243 ล้านบาท ที่เป็นเงินที่บริษัทต้องจ่าย ให้กระทรวงแรงงานทดรองจ่ายไปก่อน ทั้งที่ไม่มีระเบียบอะไรรองรับ สะท้อนให้เห็นว่ามีจุดประสงค์แอบแฝง ใช้ความเดือดร้อนของลูกจ้างมาเป็นเครื่องมือเคลื่อนไหว จึงอยากเตือนลูกจ้างว่าไม่ควรหลงเชื่อ

“ทุกอย่างต้องดูตามระเบียบกฎหมาย วันนี้กระทรวงแรงงานช่วยเต็มที่แล้ว จ่ายเงินชดเชยให้เร็วกว่ากรณีอื่นๆด้วยซ้ำ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เป็นผู้เดือดร้อน แต่เป็นนักกิจกรรมที่หากิจกรรมทำ อยากให้มีภาพว่ากระทรวงแรงงานทำงานไม่มีประสิทธิภาพ จึงขอให้หยุดอย่าเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นเครื่องมือ ซึ่งแรงงานพันกว่าคนเขารู้ทัน มีเพียงส่วนน้อยไม่ถึงร้อยคนเท่านั้นที่หลงเชื่อ จึงขอเตือนว่าอย่าหลงไปเป็นเครื่องมือสร้างผลงานให้กับใคร”นายชาญศิลป์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน