กนอ.-ดับเบิ้ลพี แลนด์ จรดปากกาตั้งนิคมฯ ‘ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้’ เล็งดูดลงทุนเพิ่มพื้นที่อีอีซี คาดเกิดการลงทุน 3.32 หมื่นล้าน

ตั้งนิคมฯ ‘ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้’ – นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. ลงนามสัญญาร่วมดำเนินงานกับ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด ในฐานะผู้ลงทุนพัฒนาเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 67 รองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ใช้ระยะเวลาพัฒนาโครงการประมาณ 2 ปี และจะเปิดขายพื้นที่/ให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 4 ปี

“คาดว่าหากมีการลงทุนเต็มพื้นที่แล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในนิคมฯ ประมาณ 33,200 ล้านบาท เกิดการจ้างงานประมาณ 8,300 คน”

โดยนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เน้นกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตเป็นหลัก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าประจุสูง กิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว

พื้นที่ตั้งโครงการถือว่าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี มีการเชื่อมโยงเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่สะดวก โดยเส้นทางเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3702 และเป็นทางคู่ขนานกับมอเตอร์เวย์ ห่างจากบริเวณจุดพักรถมอเตอร์เวย์ 1 กิโลเมตร อยู่ห่างจากสถานีรถไฟพานทอง 10 กิโลเมตร (ก.ม.) สนามบินสุวรรณภูมิ 44 ก.ม. ท่าเรือแหลมฉบัง 60 ก.ม. และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 119 ก.ม. ขณะเดียวกันยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้

นิคมอุตสาหกรรมนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ มีพื้นที่ประมาณ 1,181.87 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 831 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 70.32 พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคประมาณ 204.16 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 17.31 และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชนประมาณ 146.42 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.13 ของพื้นที่ทั้งหมด

นายวีริศ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการลงทุนในขณะนี้มีสัญญาณบวกชัดเจนขึ้น เห็นได้จากหลายอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับมีความสนใจการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : เอฟดีไอ) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมองว่าไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และเหมาะกับการตั้งฐานธุรกิจในระยะยาว เห็นได้จากการย้ายฐานการผลิตที่เป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ (จีน-สหรัฐ) ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการจากจีนและไต้หวัน ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมาย้ายฐานเข้ามาแล้ว 250 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 126,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน