ธ.ก.ส. เผย หนี้จำนำข้าว เหลืออีก 1 แสนล้าน คาดไม่เกิน 5 ปี ใช้ครบหมด เปิดผลประกอบการครึ่งปี ปล่อยสินเชื่อแผ่ว แต่มั่นใจแตะเป้า 5.7 หมื่นล้านบาท

วันที่ 1 พ.ย.64 นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2564 (1 เม.ย.-30 ก.ย.2564) ว่า ธนาคารมียอดจ่ายสินเชื่อทั้งระบบ 1.56 ล้านล้านบาท โดยจ่ายสินเชื่อแล้ว 2.99 แสนล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 8.99 พันล้านบาท หรือ 15.77% เมื่อเทียบกับเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปี 2564 จำนวน 5.7 หมื่นล้านบาท

ขณะที่มียอดเงินฝากสะสม 1.83 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.61 หมื่นล้านบาท หรือ 3.15% จากต้นปีบัญชี มีสินทรัพย์รวม 2.12 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 7.67 พันล้านบาท หรือ 0.36% หนี้สินรวมจำนวน 1.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 1.12 หมื่นล้านบาท หรือ 0.57% ส่วนอัตราเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 88.39% เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ที่ 12.32% มีรายได้รวม 4.1 หมื่นล้านบาท ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 3.96 หมื่นล้านบาท คงเหลือกำไรสุทธิจำนวน 1.46 พันล้านบาท อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อ อยู่ที่ 4.24%

“จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ภาคเกษตรกรรมประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากมาตรการล็อกดาวน์ ปิดประเทศ ไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ ส่งผลทำให้เกษตรกรยังไม่มีความมั่นใจที่จะเข้ามาขอสินเชื่อ แต่เชื่อว่าหลังจากมีการเปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการควบคุม จะทำให้การปล่อยสินเชื่อในปีบัญชี 2564 ได้ตามเป้าหมายที่ 5.7 หมื่นล้านบาท

แต่ต้องยอมรับว่าเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวต่ำสุดในรอบ 3-5 ปี ขณะที่เอ็นพีแอล ณ สิ้นปีบัญชีจะสามารถบริหารจัดการให้ลดลงมาอยู่ที่ 4% ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าได้ ส่วนแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในปีบัญชี 2565 น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ไม่ต่ำกว่า 10-15%” นายธนารัตน์ กล่าว

นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนหลัง (1ต.ค.2564- 31 มี.ค.2565) ธนาคารจะมุ่งดำเนินการฟื้นฟูลูกค้า มุ่งเน้นการตรวจสุขภาพหนี้ไปสู่การบริหารจัดการหนี้ แบ่งลูกค้าตามศักยภาพ และออกมาตรการสนับสนุนลูกค้าชั้นดี

เช่น ผัดผ่อนเกณฑ์พิเศษ เป็นต้น รวมทั้งเน้นการพัฒนาคุณภาพข้อมูล การให้บริการและคุณภาพสินเชื่อ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการพัฒนาชุมชน สนับสนุนเกษตรกรนำเครื่องมือทันสมัยมาช่วยในการพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตร และพัมนาองค์กรสู่ความยั่งยืน

นอกจากนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ประกอบด้วย 1. มาตรการเยียวยา ผ่านโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 6.92 ล้านราย เป็นเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท

2.มาตรการบรรเทา ผ่านโครงการประกันภัยพืชผล ได้แก่ การประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 3.68 ล้านราย พื้นที่รวมกว่า 44.8 ล้านไร่ ซึ่งในช่วงที่เกิดอุทกภัย มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนกว่า 4.6 แสนราย พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 5.3 ล้านไร่ ขณะนี้ได้เร่งประสานงานในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน

ขณะเดียวกัน ยังได้มีการดำเนินโครงการพักชำระหนี้ มีเกษตรลูกค้าได้รับประโยชน์ 1.79 ล้านราย ต้นเงิน 5.51 แสนล้านบาท และการสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ การประกันภัยโคนม โคเนื้อ และชาวประมง มีผู้เข้าร่วมโครงการ 2.78 พันราย เบี้ยประกัน 3.82 ล้านบาท

3. มาตรการฟื้นฟู สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนตามนโยบายรัฐ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงและสินเชื่อเพื่อพัฒนาเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 2.26 พันราย เป็นเงิน 8.98 พันล้านบาท

“ในระยะถัดไปมีความเป็นห่วงแนวโน้มราคาข้าวนาปีตกต่ำกว่าช่วงทีผ่านมา เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่แนวโน้มราคามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะปรับเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณความต้องการของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว” นางธนารัตน์ กล่าว

นายธนารัตน์ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการชำระหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวนั้น ในปีงบประมาณ 2565 สำนักงบประมาณได้ตั้งงบชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส. จำนวน 6.9 หมื่นล้านบาท น้อยกว่าปีก่อนหน้า โดยปัจจุบันรัฐบาลยังมีภาระหนี้จากโครงการดังกล่าวที่ต้องชำระคืนให้กับธนาคาร จำนวน 1 แสนล้านบาท

คาดว่าสำนักงบประมาณจะมีการตั้งงบประมาณเพื่อจ่ายหนี้ ปีละ 10-20% ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-5 ปีจึงจะชำระหนี้หมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน