ผู้เลี้ยงหมู เผยหมูตายกว่า 22 ล้านตัว เกษตรกรหนี้ท่วม ลั่น 500 ล้านบาทไม่พอ จี้รัฐบาลเยียวยาเพิ่ม แนะชำแหละหมูมีชีวิตในพื้นที่ติดเชื้อ ห้ามย้ายข้ามเขต

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังจากที่กรมปศุสัตว์ ประกาศพบเชื้อ ASF ในประเทศไทยนั้น อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย ถือว่าได้รับผลกระทบอย่างหนัก การเลี้ยงสุกรหลังจากนี้จะมีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นต้องบริหารจัดการฟาร์มอย่างเข้มงวดยิ่งกว่าเดิม และจะมีต้นทุนสูงขึ้น ในขณะที่การส่งออกคงไม่สามารถทำได้อีกจนกว่าไทยจะสามารถควบคุมการระบาดได้

ด้านนายอภิศักดิ์ อังคสิทธิ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คนที่ 1 ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากนี้กรมปศุสัตว์จะต้องจะน็อกดาวน์ ห้ามเคลื่อนย้ายสุกรและซากในพื้นที่ที่ตรวจพบเชื้อ แล้วฝังกลบตามระเบียบของโรคระบาด โดยรัฐบาลชดเชยค่าเสียหายทั้งหมด
อย่างไรก็ตามเนื่องจาก ASF เป็นเชื้อที่ไม่ติดคน ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบกับผู้บริโภคที่เป็นไปได้ที่จะนำสุกรมีชีวิตในพื้นที่พบเชื้อมาชำแหละ แต่ต้องควบคุมการเคลื่อนย้ายไม่ให้ข้ามเขต ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้กรมปศุสัตว์ตัดสินใจเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะการส่งออกไม่สามารถทำได้แล้ว

นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการฟื้นฟูและเยียวยาตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติงบประมาณ 500 ล้านบาทนั้น ไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้น จากสุกรแม่พันธุ์ของไทยกว่า 22 ล้านตัว เหลือเพียง 5 แสนตัว ราคาเฉลี่ยตัวละ 2 หมื่นบาท ผู้เลี้ยงบางรายใช้เงินลงทุนสูงกว่า 1 พันล้านบาทและยังเป็นหนี้อยู่เนื่องจากหมูตายหมดแล้ว ซึ่งรัฐบาลต้องหาแนวทางดูแลกลุ่มที่ยังเป็นหนี้เหล่านี้ด้วย

“ส่วนการเลี้ยงในอนาคตต้องปรับตัว เข้มงวดให้มากที่สุด เช่นเดียวกับจีน จะมีจุดทำความสะอาดคนงานทุกจุด พาหนะที่ใช้ ห้ามออกจากฟาร์ม ทำให้การเลี้ยงสุกรรอด โดยปัจจุบันราคาสุกรมีชีวิตที่กิโลกรัมละ 80 บาท ลดลงจากเดิมในช่วงที่ ASF ระบาด ทำให้ราคาหมูพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 140 บาท โดยสุกรมีราคาแพงอยู่ประมาณ 1 ปี ส่วนราคาสุกรมีชีวิตของไทยขณะนี้กิโลกรัมละ 110 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ราคากิโลกรัมละ 70-75 บาท” นายอภิศักดิ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน