ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ชี้รัฐบาลสร้างปัญหาต้นทุน เงื่อนไขเยอะทำราคาพุ่งต่อเนื่อง ลั่นพร้อมลดให้เกษตรกร ถ้าเปิดนำเข้าวัตถุดิบเสรี

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2565 นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ไม่เคยปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์เลยมานานกว่า 5 ปีแล้ว แม้ว่าราคาวัตถุดิบจะปรับขึ้น แต่ผู้ผลิตก็บริหารจัดการต้นทุนให้สามารถขายได้ในราคาที่คงที่และให้ส่วนลดกับผู้ค้าอาหารสัตว์มาโดยตลอด แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่พบว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถใหส่วนลดกับผู้ค้าได้อีกต่อไป จึงทำให้สังคมทั่วไปมองว่าผู้ผลิตปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์ ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้ขึ้น เพียงแต่กลับไปขายในราคาจริงที่ไม่มีส่วนลดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สมาคมพร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการช่วยเหลือเกษตรกร ในการลดราคาอาหารสัตว์ลงจากปกติ แต่ต้องเป็นการช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข คือกระทรวงพาณิชย์ต้องแก้ไขราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้อยู่ในภาวะที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์รับได้ คือปรับราคาให้ลดต่ำลงซึ่งไม่น่ามีปัญหา เพราะรัฐบาลมีโครงการชดเชยราคาสินค้าเกษตรอยู่แล้ว

“วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไทยต้องใช้ คือ ข้าวโพด ข้าวสาลี ปลาป่น และมันสำปะหลัง ใช้รวมกันประมาณ 20 ล้านตัน ราคาขาขึ้นทั้งนั้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยตอนนี้ราคาสูงที่สุดในโลกคือกิโลกรัมละ 11 บาท และต้องใช้มากที่สุดในบรรดาวัตถุดิบที่มีคือกว่า 8 ล้านตัน แต่ไทยปลูกได้แค่ 5 ล้านตัน ที่เหลือต้องนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ตอนที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำกระทรวงขอให้เอกชนช่วยรับซื้อกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท ผมก็ซื้อให้ แต่พอราคาแพงกลับมาขอให้ผมลดราคาให้”

นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับวัตถุดิบอื่นๆ ก็มีอุปสรรค เพราะต้องนำเข้ามาแบบมีเงื่อนไขเหมือนข้าวโพด เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้กระทบกับราคาผลผลิตในประเทศ แต่กลับสร้างปัญหาต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ให้กับผู้ผลิต ทั้งการจำกัดการนำเข้า ข้อจำกัดเรื่องภาษี การขนส่งที่ไกล และค่าระวางเรือ

“โดยเฉพาะการนำเข้าถั่วเหลือง และกากถั่วเหลือง ที่นำเข้าจากบราซิล อาร์เจนติน่า ซึ่งนอกจากจะราคาสูงเพราะเรื่องการขนส่งและภาษีแล้ว ส่วนหนึ่งก็มาจากผลผลิตออกมาน้อย เพราะประเทศผู้ผลิตประสบปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งข้าวสาลีที่นำเข้ามาจากยูเครน นอกจากนี้ สาสาเหตุที่วัตถุดิบเหล่านี้มีราคาสูงขึ้นก็มาจากการที่จีนกว้านซื้อผลผลิตเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นตามไปด้วย”

นายพรศิลป์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาราคาสินค้าปศุสัตว์หมู ไข่ไก่ เนื้อไก่แพงที่ต้นเหตุ คือทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ถูกลง จะช่วยทำให้ราคาอาหารสัตว์ลดลงได้ และย้ำว่ารัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ต้องเปิดเสรีแบบมีเงื่อนไข คือต้องขึ้นทะเบียนผู้นำเข้ายกเลิกระบบโควต้าสัดส่วน 3 ต่อ 1

“หากรัฐบาลกลัวว่าจะกระทบต่อราคาในประเทศ ก็ให้จำกัดควบคุมปริมาณการนำเข้าอย่างจริงจัง ควบคุมการลักลอบตามชายแดน ที่มีการนำผลผลิตจากเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทย ซึ่งจะทำให้เอกชนนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้มาได้มากและสะดวกมากขึ้น และเกษตรกรก็ไม่เสียผลประโยชน์ ไม่ควรจำกัดหรือมีเงื่อนไขจนเป็นอุปสรรคในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะเป็นการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าปศุสัตว์ได้อย่างยั่งยืน” นายพรศิลป์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน