กองทุนน้ำมัน อ่วม โวยเบนซิน ราคาขึ้นเอาๆ แต่ไปอุ้มดีเซล แย้มเริ่มหยิบยกแนวทางอุดหนุนเบนซินสมัย “ศิริ” มาดูแล แต่ยังไร้หนทางหาเงินชดเชย

วันที่ 3 ก.พ.65 รายงานข่าวจากวงการน้ำมัน เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือและพยายามดูแลเสถียรภาพราคาขายแลีกน้ำมันในประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนท่ามกลางวิกฤตราคาน้ำมันแพง โดยยังคงยึดเกณฑ์การดูแลราคาน้ำมันดีเซลเป็นหลัก เพราะมีสัดส่วนการใช้ประมาณ 60% ของทั้งประเทศ

ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซิน ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าผู้ค้าน้ำมันตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรตามนโยบายรัฐบาลจริง แต่กลับปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินนั้น เรื่องนี้มีการหยิบยกมาพูดคุยอยู่บ้างในหลากหลายแนวทาง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ เพราะต้องดูเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้ชดเชยราคาน้ำมันเป็นหลัก เบื้องต้นคงยังไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่านี้

“ที่ผ่านมาสมัย นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรมว.พลังงาน เคยมีการศึกษาแนวทางดูแลราคาน้ำมันเบนซินในช่วงหนึ่งที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกผันผวนในระดับสูง แต่ก็ได้แค่ศึกษา ยังไม่ได้นำมาใช้จริง เพราะเวลานั้นปัญหาคลี่คลายลงไปก่อน ซึ่งรูปแบบการดูแลน้ำมันเบนซินที่เคยศึกษาไว้ครั้งนั้นจะให้ปรับขึ้นในลักษณะขั้นบันไดหรือสลับฟันปลาไม่ให้ขึ้นเต็มที่ ตัวอย่างเช่น ถ้าราคาน้ำมันปรับขึ้น 1 บาท ไปอยู่ที่ 31 บาท/ลิตร จาก 30 บาท/ลิตร รัฐอาจปล่อยให้ขึ้น 50 สตางค์/ลิตร ทำให้ราคาขึ้นไปอยู่ที่ 30.50 บาท/ลิตร อีก 50 สตางค์ รัฐจะเข้าไปชดเชย เป็นต้น”

รายงานข่าวกล่าวย้ำว่า การดูแลน้ำมันเบนซินทำได้ ถ้ามีเงินกองทุน เพราะหลักการดูแลราคาน้ำมันในประเทศ คือ ต้องใช้เงินกองทุน แต่ตอนนี้ คือ กองทุนไม่มีเงิน และยังไม่รู้ว่าเงินจะเข้ามาเมื่อไหร่ รัฐจึงเลือกที่จะดูแลดีเซลก่อน ถ้าเงินไม่พอ ก็ทำอะไรไม่ได้

นอกจากนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบให้แน่ใจว่าเงินกองทุนมีอยู่เท่าไหร่ ติดลบเท่าไหร่ ใช้ได้เท่าไหร่ แม้ว่าจะมีเงินกู้ซึ่งกฎหมายกำหนดเพดานกู้ไม่ให้เกิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้กู้ 20,000 ล้านบาทก่อน ในกรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท หากจำเป็นสามารถกู้ได้อีก 10,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีเงินกู้เข้ามาเมื่อไหร่เช่นกัน

“หลักการตอนนี้ ยังต้องใช้เงินกองทุนสู้ต่อไป ซึ่งถ้ากรณีเลวร้ายอาจต้องกู้ถึง 30,000 ล้านบาท และเลวร้ายที่สุดอาจยังไม่เพียงพอที่จะดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศ จึงมองว่าถึงเวลาที่การลดภาษีควรจะต้องมาแล้ว ถ้ากระทรวงการคลังลดภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากน้ำมันลงได้สัก 1-2 บาท/ลิตร จากปัจจุบันดีเซลเก็บอยู่ที่ 5.99 บาท/ลิตร ก็ยังดี เพราะยังช่วยแบ่งเบาภาระกองทุนลงได้มาก”

โดยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ณ วันที่ 30 ม.ค.2565 ติดลบ 14,080 ล้านบาท เป็นบัญชีก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ติดลบ 24,669 ล้านบาท ขณะที่บัญชีน้ำมันมีเงิน 10,589 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับขึ้นต่อเนื่องแล้ว 8 ครั้ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 2.80 บาท/ลิตร

โดยน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 41.96 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 34.28 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 34.55 บาท/ลิตร อี 20 เพิ่มขึ้น 3.20 บาท/ลิตร อยู่ที่ 33.44 บาท/ลิตร อี 85 เพิ่มขึ้น 2.60 บาท/ลิตร อยู่ที่ 26.74 บาท/ลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซล บี 7 (น้ำมันพื้นฐาน) และบี 20 เพิ่มขึ้น 0.90 บาท/ลิตร อยู่ที่ 29.94 บาท โดยรวมกองทุนชดเชยราคาดีเซลต่อเนื่องรวมแล้ว 3.79 บาท/ลิตร

อย่างไรก็ตาม ยอมรับขณะนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกผันผวนอยู่ในระดับสูง โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 87-89 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ถือเป็นระดับที่สูงขึ้นเกินความคาดหมายมาก จากสมมติฐานคาดไว้ที่ 85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ภายใต้การดำเนินมาตรการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล บี 7 (น้ำมันพื้นฐาน) ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2565

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน