บีโอไอฟุ้งยอดคำขอส่งเสริมลงทุนปี’64 พุ่ง 6.42 แสนล้าน พร้อมไฟเขียวมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเกษตร

บีโอไอฟุ้งยอดขอลงทุนพุ่ง – น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 มี 1,674 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5% มีมูลค่ารวม 642,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 59% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ มีอัตราการขยายตัวสูง จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 783 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 455,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 163 โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น มีมูลค่าเงินลงทุน 80,733 ล้านบาท รองลงมา คือ จีน มีมูลค่าเงินลงทุน 38,567 ล้านบาท และสิงคโปร์ มีมูลค่าเงินลงทุน 29,669 ล้านบาท

โดยคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 340,490 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม โดย 5 อันดับแรก ได้แก่

1. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 104,490 ล้านบาท 2. อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่าลงทุน 62,170 ล้านบาท จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น 3. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ มูลค่าลงทุน 48,410 ล้านบาท 4. อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่าลงทุน 47,660 ล้านบาท และ 5. อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน มูลค่าลงทุน 24,570 ล้านบาท

สำหรับพื้นที่เป้าหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีการขอรับการส่งเสริม 453 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 220,500 ล้านบาท โดย จ.ระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 112,740 ล้านบาท รองลงมาเป็น จ.ชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 74,550 ล้านบาท และ จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุนรวม 33,210 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บอร์ดบีโอไอ เห็นชอบให้เปิด 2 ประเภทกิจการใหม่ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ได้แก่ กิจการศูนย์การค้าผลิตผลทางการเกษตรระบบดิจิตอล เพื่อเป็นการยกระดับภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องมีแพลตฟอร์มสำหรับให้บริการเกษตรกรและผู้ประกอบการ และสนับสนุนให้เกิดระบบการติดตามและปรับปรุงควบคุมคุณภาพผลผลิต โดยจะต้องจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรในรูปแบบ B2B (Business-to-Business) เท่านั้น

และกิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รองรับสถานประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตร เกษตรแปรรูป อาหาร รวมทั้งบริการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร เพื่อเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเกษตรในพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขพื้นที่นิคมหรือเขตไม่น้อยกว่า 200 ไร่ และห้ามตั้งในเขตกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ

อย่างไรก็ตาม บีโอไอได้ปรับปรุงทบทวนประเภทกิจการ เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ครอบคลุมถึงยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวชสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้สมุนไพรเป็นวัตถุดิบ เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน และเครื่องสำอาง เป็นต้น โดยหากเป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดขั้นสูง จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี รองรับตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคที่คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างมากในอีก 10 ปีข้างหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน