นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 36,733 ราย โดยเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ที่เปิดกิจการใหม่จำนวน 4,411 ราย เติบโต 34.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจโลจิสติกส์ 48,743.73 ล้านบาท หรือ10.2 %ของการลงทุน ในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งหมด
โดยกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการเปิดกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. การอำนวย ความสะดวกของท่าเรือ 2. การขนส่งทางระบบท่อลำเลียง และ 3. ตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากร มีสัดส่วน 14.2% 11.7% และ 11.4% ของจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ที่เปิดใหม่ทั้งหมด
ในส่วนของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในปี 2564 มีมูลค่า 17.09 ล้านล้านบาท ไทยพึ่งพาการขนส่งทางเรือเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 67.2% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย (เติบโต 28.8%) สินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และชิ้นส่วนรถยนต์ รองลงมา คือ การขนส่งทางอากาศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.7 (เติบโต 13.3%)
สินค้าสำคัญ ได้แก่ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสาร การขนส่งทางถนน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.9 (เติบโต 32.7%) สินค้าสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์บันทึกเทป และยางธรรมชาติ และการขนส่งทางราง คิดเป็นสัดส่วน 0.1% (เติบโต 34.8%) สินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ และแผ่นไม้อัด โดยมีตลาดที่สำคัญ คือ จีน เป็นอันดับหนึ่งในทุกรูปแบบการขนส่ง
ในปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรวมจากไทยไปจีนทางถนน เติบโตถึง 62.9% โดยคาดว่าค่าระวางเรือที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้การส่งออกผลไม้ และพืชผัก มีการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (Shift Mode) มาใช้ทางถนนผ่านแดนมากขึ้น ด้วยระยะเวลาในการขนส่งที่สะดวกกว่า และอัตราค่าบริการที่มีความคุ้มค่ามากกว่า เมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่น
โดยเฉพาะพิกัด 0810 สินค้าผลไม้สดอื่นๆ (เช่น ทุเรียน ฯลฯ) ที่มูลค่าการส่งออกทางถนนเพิ่มขึ้น 164.3% และมีสัดส่วนการส่งออกทางถนน 65.2% (จากเดิม 47.4%) และพิกัด 0804 สินค้าผลไม้สดหรือแห้ง (เช่น มะม่วง ฝรั่ง มังคุด สับปะรด ฯลฯ) ที่มูลค่าการส่งออกทางถนนเพิ่มขึ้น 73.6% และมีสัดส่วนการส่งออกทางถนน 92.2% (จากเดิม 72.3%)
คาดการณ์ว่าการค้าผ่านแดนจากไทยไปจีนในปี 2565 น่าจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเชิงบวกต่อการขนส่งทางถนน ทั้งการเริ่มเปิดด่านทางบกของจีน (โม่ฮาน โหยวอี้กวน รถไฟผิงเสียง และตงซิง) และรถไฟลาว-จีนความเร็วสูง ที่คาดว่าจะขนส่งได้สะดวกมากขึ้นในช่วงกลางปี 2565
ปัจจุบันภาคโลจิสติกส์ของไทยมีศักยภาพสูงขึ้น และยังมีโอกาสขยายตัวอีกมากในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของการบริโภค โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีน จำพวกทุเรียน มังคุด และลำไย ซึ่งเป็นโอกาสของการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) ด้วย
สำหรับภาครัฐจะต้องร่วมมือกันเร่งผลักดันการใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาว เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการส่งออกของไทย กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโลจิสติกส์ควบคู่กับการพัฒนาการค้า ผู้ที่สนใจข้อมูลสำคัญด้านธุรกิจโลจิสติกส์ สามารถติดตามผ่านช่องทางเว็บไซด์ www.คิดค้า.com