ผู้ค้าถนนข้าวสาร ชี้ภาครัฐปักธงโควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่ไม่ยอมคลายล็อกธุรกิจ ให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดการณ์ สิ่งที่ทำยังสวนทางกันอยู่

เมื่อวันที่ 20 มี.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผยว่า จากปัญหาค่าพลังงาน อาทิ ค่าน้ำมัน และค่าไฟ รวมถึงค่าวัตถุดิบในการประกอบอาหาร มีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบแน่นอน นอกจากจะต้องขายในเวลาที่กำหนดแล้ว ยังขายได้ในพื้นที่ๆจำกัดอีกด้วย

หากเป็นร้านแบบปิดสามารถนั่งทานในร้านได้เพียง 50% ของที่นั่งทั้งหมดเท่านั้น ส่วนร้านแบบเปิดสามารถนั่งทานได้ 75% ของที่นั่งทั้งหมด มองว่าวันนี้ภาครัฐยังหลงอยู่ในวังวนเดิมๆ ทั้งที่ในเดือนก.ค.65 มีแผนที่จะผลักดันให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นอยู่แล้ว แต่ยังไม่คลายล็อกให้ธุรกิจกลับมาทำรายได้อย่างเต็มที่เสียที

“ขณะนี้รัฐบาลพยายามผลักดันให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันหมู่ แม้ในตอนนี้จะพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก หากมองอีกมุมหนึ่งถือว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน และรัฐต้องช่วยเสริมภูมิคุ้มกันที่ดีเข้าไป เพื่อให้ทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ แต่สิ่งที่รัฐควรทำที่สุดคือการผ่อนคลายมาตรการ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดการณ์ และอยากจะให้เกิดขึ้น แต่ตอนนี้สิ่งที่รัฐอยากให้เป็นกับสิ่งที่ทำยังสวนทางกันอยู่” นายสง่า กล่าว

นายสง่า กล่าวอีกว่า กรณีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมคาดโทษสำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่ขึ้นราคาสินค้าเองนั้น มองว่าข้าราชการ หรือนักการเมือง ไม่เข้าใจผู้ประกอบการ ที่ต้องแบกภาระเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้น พอผู้ค้าจะปรับขึ้นราคาเพราะแบกรับไม่ไหว ภาครัฐดันเบรกไม่ให้ปรับราคาขึ้น และผู้ประกอบการจะอยู่ได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้รัฐก็ไม่ได้เข้ามาช่วยดูแล

“ปัจจุบันข้าราชการ หรือนักการเมือง ก็รับเงินเดือนตามปกติ แต่ตัดภาพมาที่ผู้ประกอบการยังมีปัญหาในเรื่องของการหารายได้เลี้ยงชีพ และเลี้ยงพนักงานอยู่เลย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องลงมาดูภาคปฏิบัติจริงๆ สักทีว่าเป็นอย่างไร เพราะในตอนนี้มองว่าสิ่งที่รัฐบาลทำเป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์เท่านั้น ยังไม่ได้เห็นการช่วยเหลือที่จริงจังเลย” นายสง่า กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน