แบงก์ชาติ ส่งหนังสือเปิดผนึกถึง รมว.คลัง หลัง เงินเฟ้อ ฉุดไม่อยู่พุ่ง 4.1% ทะลุกรอบยาวถึงต้นปีหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยมีเนื้อหา ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 กนง. ได้ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 2/65 ถึง ไตรมาส 1/66) จะอยู่ที่ 4.1% ซึ่งสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน โดยในปี 2565 ได้กำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 1-3%

ทั้งนี้ กนง. ชี้แจงว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนเคลื่อนไหวออกนอกรอบ มาจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push shocks) เป็นสำคัญ โดยแรงกดดันเงินเฟ้อส่วนใหญ่มาจากปัจจัยด้านอุปทานจากต่างประเทศ จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นมาก และมีผลต่อเนื่องทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าจะเร่งตัวสูงสุดที่ 16.8% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา ที่ 1.6% มาก

นอกจากนี้ ยังมาจากปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ (domestic supply shocks) จากโรคระบาดในสุกรและการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปยังราคาอาหารสำเร็จรูป ขณะเดียวกันราคาอาหารสดหมวดอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นบ้างตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์ และปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นจากความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ทำให้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มสูงขึ้น 3.4% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ 0.6%

ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังไม่เข้มแข็งจากเศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นตัวและยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าทำได้บางส่วน โดย กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2% จากราคาอาหารสำเร็จรูปที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นหลัก

“อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงกว่า 5% ในช่วงไตรมาส 2 และ 3/2565 ก่อนจะปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 โดยการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2 และ3 นั้น สะท้อนผลจากฐานที่ต่ำของราคาน้ำมันและมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐในปี 2564 ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเทียบต่อปีสูงขึ้น แม้ระดับราคาไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากก็ตาม โดยอัตราเงินเฟ้อจะทยอยลดลงในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และแม้ว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ แต่โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 จะสูงกว่ากรอบเป้าหมายมีไม่มาก”

สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางสะท้อนจากข้อมูลตลาดการเงิน ยังคงยึดเหนี่ยวในกรอบเป้าหมาย แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาตามการปรับขึ้นของราคาสินค้าบางประเภท โดย กนง. จะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ เพื่อให้มั่นใจว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

ทั้งนี้ กนง.ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานและรายได้ของภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนให้ขยายตัวได้อย่างเข้มแข็ง สามารถรองรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ ขณะที่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานในระยะสั้นที่ผันผวนสูงเป็นสำคัญ ดังนั้นนโยบายการเงินที่ต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป อาจจำเป็นที่จะต้องมองผ่านความผันผวนในระยะสั้นดังกล่าว และให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเงินที่มุ่งรักษาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป กนง. เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะมาตรการการคลังที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด เพื่อสร้างรายได้และบรรเทาภาระค่าครองชีพในกลุ่มเปราะบาง ขณะที่นโยบายการเงินยังผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนภาวะการเงินโดยรวม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน