ก.คมนาคม จัดหนัก ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ลดภาษี อุดหนุนราคาช่วยเหลือ หลังราคาน้ำมันพุ่งต่อเนื่อง ชะลอปรับค่าโดยสาร ตรึงราคา จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

วันที่ 12 พ.ค.2565 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เผยว่าทางกระทรวงได้ประชมหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านคมนาคม ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน หลังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

โดยด้านการขนส่งทางบก ทางกรมการขนส่งบก (ขบ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส.จะเสนอขอรับการอุดหนุนค่าน้ำมันดีเซลให้กับผู้ประกอบการขนส่ง ประกอบด้วย มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ด้านการขนส่งสินค้า เสนออุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้กับรถบรรทุกไม่ประจำทาง (70)

โดยมีรถ ที่ใช้น้ำมันดีเซล จำนวน 2.4แสนคัน คิดเป็น 62% ของรถทั้งหมดคือ 3.8 แสนคัน ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ย 120 ลิตรต่อวันต่อคัน จะเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมัน 60 ลิตรต่อวันต่อคัน ที่ราคา 2 บาทต่อลิตร คิดเป็น 120 บาทต่อวันต่อคัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวมทั้งสิ้น 2.5 พันล้านบาท

ด้านการขนส่งผู้โดยสาร เสนออุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้กับรถโดยสารประจำทาง โดยมีรถที่ใช้น้ำมันดีเซล จำนวน 4.2 หมื่นคัน คิดเป็น 69% ของรถทั้งหมด 6.2 หมื่นคัน ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ย 142 ลิตรต่อวันต่อคัน ซึ่งจะเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมัน 60 ลิตรต่อวันต่อคัน ที่ราคา 2 บาทต่อลิตร คิดเป็น 120 บาทต่อวันต่อคัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวมทั้งสิ้น 465 ล้านบาท โดยได้รวมรถโดยสารของ ขสมก. และ บขส. แล้ว

จากนี้จะมีการเสนออุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้กับรถโดยสารไม่ประจำทาง โดยมีรถที่ใช้น้ำมันดีเซล จำนวน 5 หมื่นคัน คิดเป็น 85% ของรถทั้งหมด คือ 6 หมื่นคัน ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ย 142 ลิตรต่อวันต่อคัน ซึ่งจะเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมัน 60 ลิตรต่อวันต่อคัน ที่ราคา 2 บาทต่อลิตร คิดเป็น 120 บาทต่อวันต่อคัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวมทั้งสิ้น 550 ล้านบาท

สรุปคือการเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมันดีเซล 2 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 3 เดือน วงเงิน 3.6 พันล้านบาท ประกอบด้วย ด้านการขนส่งสินค้า 2.5 พันล้านบาท และด้านการขนส่งผู้โดยสาร 1พันล้านบาท

มาตรการทางภาษี เสนอขอปรับลดภาษีประจำปี 90% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรถสาธารณะ ประมาณ 1.7 แสนคัน ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์รรับจ้าง จำนวน 1.1 แสนคัน รถรับจ้างสามล้อ จำนวน 1 หมื่นคัน รถรับจ้างแท็กซี่ จำนวน 6 หมื่นคัน โดยต้องดำเนินการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ให้มีการลดภาษีในรอบปี เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการต่อไป

ด้านการขนส่งทางน้ำ โดยกรมเจ้าท่า ยังคงตรึงราคาค่าโดยสารเรือประจำทาง ทั้งในส่วนของเรือด่วนเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ และเรือข้ามฟาก ขณะเดียวกันจะเสนอขอรับมาตรการช่วยเหลือกรณีค่าน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากกระทรวงพลังงาน ให้กับผู้ประกอบการเรือโดยสารสาธารณะ (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ และเรือข้ามฟาก)

ประมาณการการขอความช่วยเหลือ คิดเป็นจำนวน 1.3 หมื่นลิตรต่อวัน สนับสนุนลิตรละ 2 บาท เป็นเงินรวม 2.6 พันบาทต่อวัน รวมทั้งสิ้น 2.3 ล้านบาท เป็นระยะเวลารวม 3 เดือน รวมทั้งจะเสนอขอขยายระยะเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จนถึงเดือนธันวาคม 2565

สำหรับมาตรการที่กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างดำเนินการ คือ การเสนอออกประกาศกระทรวงคมนาคมและกฎกระทรวง เกี่ยวกับการงดเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจเรือและการออกใบอนุญาตใช้เรือ สำหรับเรือพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ทดแทนเรือพลังงานน้ำมัน โดยงดเว้นค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 10 ปี และหลังจากนั้นเก็บค่าธรรมเนียมเพียงกึ่งหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2565

ด้านการขนส่งทางราง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จะเยียวยาผู้ประกอบการการขนส่งสินค้า ทางรถไฟ โดยจะตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันดีเซล ที่เก็บจากผู้ประกอบการขนส่ง โดยจะตรึงอัตราเฉลี่ยที่ 29.76-30.00 บาทต่อลิตร (ไม่ปรับเพิ่มตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจริง) ส่งผลให้รายได้จากค่าธรรมเนียมน้ำมันต่อเดือนลดลง การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงต้องแบกรับภาระต้นทุนในส่วนดังกล่าว

ส่วนการขนส่งทางอากาศ โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้เสนอมาตรการการให้ความช่วยเหลือสายการบินสัญชาติไทยและสายการบินที่ทำการบินภายในประเทศ เนื่องจากสายการบินมีต้นทุนค่าใช้จ่ายจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจะขอขยายระยะเวลาการตรึงอัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น หน่วยละ 0.20 บาท ที่เดิมรัฐบาลสนับสนุนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เป็นสิ้นปี 2565 เป็นระยะเวลาเพิ่มเติมอีก 6 เดือน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดให้หน่วยงานภาคขนส่งในสังกัด ได้แก่ บขส. ขสมก. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คงตรึงราคาค่าโดยสาร เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยให้ชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารทุกชนิดทุกประเภท จนกว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงไป จนอยู่ในระดับที่ไม่สามารถรับภาระต้นทุนได้ จึงจะกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน