จับตาแห่เบี้ยวชำระหนี้ผ่อนรถ 1.3 แสนล้าน สศช.ห่วงเด็กจบใหม่-คนไม่เคยทำงานเตะฝุ่นเพียบ – แต่เริ่มใจชื้นว่างงานลดลงต่ำสุดในช่วงโควิด

จับตาแห่เบี้ยวหนี้ผ่อนรถ – นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไตรมาส 1/2565 สถานการณ์แรงงาน ภาพรวมการจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

แบ่งเป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรม มีจำนวน 11.4 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 27.3 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 6.1 แสนคน ลดลงจาก 7.6 แสนคนในช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลงจาก 6.3 แสนคนในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 1.53% ต่ำที่สุดในช่วงโควิด-19

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1. ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนยังคงเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวน 2.6 แสนคน เพิ่มสูงขึ้น 5.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 2. ผู้ว่างงานระยะยาวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนถึง 1.7 แสนคน และ 3. การว่างงานในกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาสูงยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ที่ 3.10%

นายดนุชา กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะ อาทิ การฟื้นตัวของการจ้างงานภาค ต้องให้ความสำคัญกับการเปิดประเทศและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศให้มากที่สุด ผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่อค่าครองชีพของแรงงาน และการจ้างงาน และ การหามาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงานระยะยาวและการว่างงานของผู้จบการศึกษาใหม่ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 4/2564 ขยายตัวชะลอลง คุณภาพสินเชื่อยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังต้องติดตามผลกระทบจากรายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว ความเปราะบางของฐานะการเงินของครัวเรือน และค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ โดยไตรมาส 4/2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% ชะลอลงจาก 4.2% ของไตรมาสที่ผ่านมา โดยคิดเป็นสัดส่วน 90.1% ต่อจีดีพี

ด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีมูลค่า 1.43 แสนล้านบาท ลดลง 0.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลงจากไตรมาสก่อน 4.0% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.73% โดยคุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ แต่ยังต้องเฝ้าระวังเอ็นพีแอลในสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากมีสัดส่วน สินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อรวม สูงถึง 11.08% หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 1.3 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากครัวเรือนมีฐานะการเงินเปราะบางมากขึ้น จากการเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมาอย่างยาวนาน ทำให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยมีสภาพคล่องต่ำ รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว แม้การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ และผู้เสมือนว่างงานยังมีจำนวนมาก และ ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน