เงินเฟ้อ พ.ค. พุ่งทะยาน 7.1% สูงสุดรอบ 13 ปี คาดเดือนหน้าขึ้นต่อ เหตุน้ำมันแพง ดัน ‘ค่าน้ำ-ค่าไฟ-แก๊ส’ ขึ้นราคา ส่วนสินค้าปรับขึ้น 298 รายการ

วันที่ 6 มิ.ย.65 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย เดือน พ.ค. 2565 พบว่า อยู่ที่ 7.1 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 13 ปี ขณะที่เดือนก่อนหน้า เม.ย. 2565 อยู่ที่ 4.65%

สาเหตุที่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพราะราคากลุ่มสินค้าพลังงานสูงขึ้น 37.24% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 35.89% , ค่ากระแสไฟฟ้า สูงขึ้น 45.43% ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพ.ค -ส.ค.2565 ,ราคาก๊าซหุงต้ม สูงขึ้น 8.00% จากการทยอยปรับ ตั้งแต่เดือนเม.ย. ที่ผ่านม รวมทั้งราคาอาหาร ก็ปรับตัวสูงขึ้น 6.18 % อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ราคาตามต้นทุนการเลี้ยง

นายรณรงค์ ในเดือนพ.ค. สินค้ามีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 298 รายการ โดยเฉพาะ ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา น้ำมันเชื้อเพลิง ข้าวแกง อาหารตามสั่ง อาหารเช้า เพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบ โดยน้ำมันพืชราคาเพิ่มขึ้นมากถึง32.18 % ส่งผลกระทบโดยตรงทำให้ราคาอาหารสำเร็จรูปที่ทำกินเองในบ้านเพิ่มขึ้น 6.84 %และอาหารตามสั่ง หรือ อาหารเดลิเวอรี่สูงขึ้น 6.28% รวมไปถึงสินค้ากลุ่มของใช้ส่วนบุคคลก็มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น อาทิ แชมพู ยาสีฟัน สบู่ถูตัวเนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชั่น

“คาดว่าเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย. จะปรับสูงกว่าเดือนพ.ค.ซึ่งอยู่ที่อัตรา 7.1% เพราะน้ำมันยังไม่ลดลง ยังมีการปรับราคาดีเซล ราคาก๊าซ และราคาสินค้า สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อช่วงไตรสมาส 2, 3 และ 4 นั้นคาดว่า จะสูงกว่า 4.75%ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยช่วงไตรมาสที่1 โดยช่วงไตรมาสที่ 3 เงินเฟ้อมีจะเพิ่มสูงขึ้นอีกตามราคาน้ำมัน แต่ไตรมาส 4 จะลดลง เพราะฐานเงินเฟ้อปีก่อนสูงมาก ส่วนทั้งปีคาดว่าจะอยู่ในอัตราไม่เกิน 6-7%”

อย่างไรก็ตาม สนค. ได้ติดตามอัตราเงินเฟ้อของไทยอย่างใกล้ชิด พบว่ายังเป็นอัตราที่ต่ำ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ จัดให้ไทยอยู่ในประเทศกลุ่มที่ 5คือกลุ่มที่มีเงินเฟ้อต่ำที่สุด แต่หากสนค.มีการทบทวนประมาณการเงินเฟ้อใหม่อีกครั้ง คาดว่าไทยอาจจะหลุดออกจากบัญชีกลุ่มประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำที่สุด โดยอาจจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม ที่ 4

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือนเม.ย.2565ของประเทศต่างๆเมื่อเทียบกับไทยจะเห็นว่า ไทยอยู่ที่ 4.65%ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สูงมาก ขณะที่ มาเลเซียอยู่ที่ 2.3% อินโดนีเซีย 3.47% ฟิลิปปินส์ 4.9% จีน 2.1% ญี่ปุ่น 2.5% ลาว 9.86% สหรัฐอเมริกา 8.3% อังกฤษ 9% อินเดีย 7.7 %อียู(19ประเทศ) 7.4 %เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน