คลังยังมั่นใจเศรษฐกิจไทยปี’65 โต 3.5% ได้อานิสงส์ท่องเที่ยว-ส่งออก แต่ห่วงเงินเฟ้อทะยานแรง

คลังมั่นใจจีดีพีโต3.5% – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คลังได้คงคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2565 ไว้ที่ระดับ 3.5% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.0-4.0% โดยมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ และยกเลิกระบบ Thailand Pass โดยคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าไทยราว 8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 6.1 ล้านคน

นอกจากนี้ คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัวได้ดีตามราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของการบริโภค โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ระดับ 4.8% ขณะที่ตัวเลขการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 8.6% สูงขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 6% แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2565 มีโอกาสขยายตัวได้สูงกว่าไตรมาส 1/2565 ที่ขยายตัวได้ถึง 2.2% และคาดการณ์จีดีพีปีนี้ที่ 3.5% สะท้อนกว่าแนวโน้มในไตรมาส 2-3 และ 4 ปี 2565 จะขยายตัวได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้ก็ยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนสำคัญในเรื่องของการท่องเที่ยวที่จะเติบโตได้ดี หลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการส่งผลให้มีการเดินทางข้ามประเทศได้มากขึ้น ขณะที่ไทยมีการปลดล็อกมาตรการ Thailand Pass ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดจองห้องพัก และสายการบินที่เพิ่มขึ้น ส่วนปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 4.2%” นายพรชัย กล่าว

นอกจากนี้ คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 5.7% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 5.2-6.2% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 6.5% ต่อปี จากปี 2564 ที่ระดับ 1.2% ตามราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในประเทศที่สูงขึ้นและกระจายตัวในหมวดสินค้าที่หลากหลายขึ้น โดยประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะค่อยๆ ปรับตัวลดลง หากราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

ขณะเดียวกันปีนี้คาดว่าเงินบาทจะทรงตัวที่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากปี 2564 ราว 8.7% โดยคาดว่าหลังจากนี้เงินบาทมีโอกาสที่จะปรับตัวแข็งค่ามากขึ้น ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ ปีนี้คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงที่ระดับ 102 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะปรับลดลงในปี 2566
นายพรชัย กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ค่อยๆ คลี่คลาย และนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเดินทางมายังประเทศไทยสูงกว่าที่คาด ตามแนวทางการเปิดประเทศ

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัจจัยเสี่ยง อาทิ ความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ส่งผ่านไปยังต้นทุนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ตลอดจนเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอลง โดยเฉพาะประเทศหลัก และจีน

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในช่วงขาขึ้นนั้น ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการส่งสัญญาณมาตลอด ขณะที่ธนาคารทั้งหมดจะมีการบริหารจัดการต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะมีการออกแพ็กเกจ โปรโมชั่นเพื่อรักษาลูกค้าไม่ให้หายไป ขณะที่นิติบุคคลส่วนใหญ่เริ่มหันมาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้มากขึ้น โดยในปีนี้ คาดว่าจะมีการออกหุ้นกู้ราว 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อลดต้นทุนทางการเงินที่จะสูงขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน