พาณิชย์ดี๊ด๊าส่งออก 6 เดือน 12.7% โตกว่าเป้า 3 เท่า มูลค่าเฉียด 5 ล้านล. สินค้าเกษตรพระเอก – ส.ค.นัดถกทูตพาณิชย์ ลุยครึ่งปีหลังช่วงพยุงจีดีพี

พาณิชย์ดี๊ด๊าส่งออกพุ่ง12.7% – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกเดือน มิ.ย. 2565 ว่า มีมูลค่า 26,553 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.9% คิดเป็นเงินบาท 907,286 ล้านบาท ส่วนในช่วง 6 เดือน มูลค่ารวม 149,184 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12.7% คิดเป็นเงินบาท 4,945,248 ล้านบาท

การนำเข้าเดือน มิ.ย. ว่า มีมูลค่า 28,082 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24.5% และ 6 เดือน มูลค่ารวม 155,440 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21% ส่งผลให้เดือนมิ.ย. ไทยขาดดุลการค้า 1,529 ล้านเหรีญสหรัฐ ส่วน 6 เดือนขาดดุลการค้ารวม 6,255 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 212,818 ล้านบาท
ช่วง 6 เดือนแรก สินค้า 3 หมวดสำคัญยังขยายตัวต่อเนื่อง คือ สินค้าเกษตร ขยายตัว 9.3% มูลค่า 14,322 ล้านเหรียญสหรัฐ, สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ขยายตัว 27.9% มูลค่า 11,999 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 10.5% พาณิชย์ มูลค่า 116,390 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าที่เติบโตสูง ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 30.5% มูลค่ารวม 1837 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะตลาดในตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ ฟิลลิปปินส์ แคนาดา, น้ำตาลทราย 138%, ผลไม้สด แห้ง และแช่แข็ง 9.6% เช่น ลำไยแห้ง ขยายตัว 95.3 ทุเรียนแช่แข็ง 143% เงาะสด 163%, ยางพารา 4.7% เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ 14.4%, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 11.7%, ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม 44.5%

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตลาดที่ขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรกคือ เอเชียใต้ 49.5% อาเซียน 35.6% แคนาดา 26.2% ตะวันออกกลาง 24.0% CLMV 19.5% ลาตินอเมริกา 17.2% เกาหลีใต้ 15.7% แอฟริกา 12.1% สหรัฐ อเมริกา 12.1% และสหราชอาณาจักร 11%

“ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกเดือนมิ.ย. และ 6 เดือนแรกยังเติบโตสูง เป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการ ส่งออกร่วมกับภาคเอกชน, การใช้ประโยชน์จาก เอฟทีเอ และมินิเอฟทีเอ, การส่งเสริมการขายในห้างต่างประเทศ รวมทั้งโลกยังมีความต้องการสินค้าอาหารสูง ขณะที่ภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัว และเงินบาทที่อ่อนค่ายังช่วยสนับสนุนการส่งออกด้วย เราไม่จำเป็นต้องปรับเป้าส่งออก เพราะเราจะทำให้เกินเป้าที่วางไว้อยู่แล้ว ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เราทำเกินเป้าไปแล้ว 3 เท่า เพราะส่งออกขยายตัวถึง 12.7% สูงกว่าเป้าทั้งปีนี้ที่ 4% แม้ว่าจะไม่ปรับเป้าเราก็ทำเต็มที่ เพราะจีดีพีประเทศต้องพึ่งพิงการส่งออกในการขับเคลื่อน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังติดปัญหาเรื่องของการแพร่ระบาด โควิด-19”

นายจุรินทร์ กล่าวถึงแผนการส่งออกในช่วง 6 เดือนที่เหลือ ว่า จะมีการจัดประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกในเดือนส.ค. นี้ เพื่อเร่งการส่งออก และมีแผนที่จะเจาะตลาดเมืองรอง 38 เมือง 25 ประเทศ, ทำมินิเอฟทีเอเพิ่มเติม, ผลักดันซอฟต์เพาเวอร์, ส่งเสริมการค้าออนไลน์ และจับคู่ธุรกิจในตลาดใหม่ เช่น อียิปต์ โปแลนด์ อาเจนตินา เป็นต้น

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สาเหตุที่ไทยขาดดุลการค้ามากเนื่องจากตัวเลขมูลค่าการนำเข้าไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก จากราคาน้ำมันดิบ และก๊าซปิโตเลียมในตลาดโลกที่มีราคาแพงขึ้น โดยในเดือนมิ.ย. มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ เพิ่มสูงขึ้น 163% คิดเป็นมูลค่านำเข้า 4,799 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าก๊าซฯ เพิ่มสูงขึ้น 66% คิดเป็นมูลค่า 715 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งยังมีการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นด้วย ถือว่าส่งผลดีต่อการส่งออกภาพรวม

อย่างไรก็ตาม หากมีการหักมูลค่าการส่งออก น้ำมันเชื้อเพลิง ทองคำ และอาวุธออก พบว่าการส่งออกภาพรวมของไทยยังขยายตัวได้ดี โดยในเดือนมิ.ย. ขยายตัว 10.4% คิดเป็นมูลค่า 22,192 ล้านเหรียญสหรัฐส่วนช่วง 6 เดือนขยายตัว 9% คิดเป็นมูลค่า 127,145 ล้านเหรียญสหรัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน