หอการค้า เผยวันแม่เงินสะพัด 1 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 9% สูงสุดรอบ 10 ปี – แนะรัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-8% ช่วง ม.ค.66

วันแม่เงินสะพัด 1 หมื่นล. – นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนเกี่ยวกับวันแม่ปี 2565 ซึ่งเป็นวันหยุดยาวช่วง 12-14 ส.ค. ว่า จะมีเม็ดเงินสะพัด 10,883.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9% แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว 870.67 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายกิจกรรมอื่น 10,012.65 ล้านบาท

เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว โดยคนส่วนใหญ่ 40% มีการใช้จ่ายวันแม่เพิ่มขึ้น, 36.5% ใช้ลดลง และอีก 23.3% ใช้เท่าเดิม ซึ่งคนที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 69.8% มองว่าเพราะเป็น วันพิเศษ, 13.9% มองว่าเศรษฐกิจดีขึ้น และ 12.7% มีรายได้เพิ่มขึ้น 12.7%

โดยกลุ่มคน 36.5% ที่ตอบว่าใช้จ่ายลดลงนั้น 23.7% มองว่าต้องการประหยัด, 17.4% มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น, 15.3% มองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี, 15% เป็นหนี้มากขึ้น, 12.1% รายได้ลดลง และ 11.6% ยังไม่อยากใช้เงินตอนนี้ โดยของขวัญยอดนิยมที่จะให้แม่คือ เงินสดหรือทอง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,724 บาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์ฯ เปิดเผยว่า วันแม่ปีนี้เม็ดเงินสะพัดมากกว่าปีก่อน 9% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปีนับจากปี 2555 เพราะคนมองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว แต่เป็นการฟื้นแบบเปราะบาง โดยคนส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่คนบางส่วนก็ยังกังวลเรื่อง ค่าครองชีพ มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ปรับตัว ดีขึ้นเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและส่งออก ดังนั้นรัฐบาลยังจำเป็นต้องตรึงราคาพลังงาน และค่าไฟฟ้าต่อไปอีก เพื่อประคองให้เศรษฐกิจทั้งปีนี้เติบโตได้ 3-3.5% อัตราเงินเฟ้อที่ 6-6.5%

ส่วนกรณีที่กระทรวงแรงงาน เตรียมปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เห็นด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่จะต้องเป็นการพิจารณาภายใต้คณะกรรมการไตรภาคี โดยควรจะปรับในช่วงเดือนม.ค.ปี 2566 เพราะเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นชัดเจนขึ้น เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป อัตราที่เหมาะสมคือ ระหว่าง 5-8% เพราะสอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพและเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ 7.61% เชื่อว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ของแรงงาน 5-8 ล้านคน จะทำให้มีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจปีละ 2.3 หมื่นล้านบาท สามารถผลักให้จีดีพีทั้งปี 2566 โตเพิ่มขึ้นอีก 0.1-0.2%

ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นคาดว่าวันที่ 10 ส.ค. คณะกรรมมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเฟ้อลง แต่จะปรับขึ้นเพียง 0.25% เพราะก่อนหน้านี้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่มากเพียง 0.75% ประกอบกับค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ามาอยู่ที่ 35-36 บาท และคาดว่าภายในปีนี้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวมทั้งปี 0.75%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน