สภาพัฒน์ลดเพดานเศรษฐกิจโต ปักหมุดทั้งปีเหลือ 3% ได้บริโภค-นักท่องเที่ยวหนุน ส่วนจีดีพีไตรมาส 2 โต 2.5%

สภาพัฒน์ลดเพดานเศรษฐกิจ – นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2565 ขยายตัวได้ 2.5% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัวได้ 2.3% โดยได้แรงสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 6.9% อุปโภคภาครัฐ ขยายตัว 2.4% มูลค่าการส่งออก ขยายตัว 9.7% การผลิตภาคเกษตร ขยายตัว 4.4% การผลิตภาคนอกเกษตร ขยายตัว 2.3%

ขณะที่การลงทุนรวม ลดลง 1% แม้การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ 2.3% แต่การลงทุนภาครัฐ ลดลง -9% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก ขยายตัวได้ 2.4%

“การขยายตัวที่ 2.5% เป็นการขยายตัวตามตัวเลขจริงที่เกิดขึ้น แม้ว่าตลาดจะมีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 3% หรือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 3% ก็ตาม หลักๆ เลย น่าจะมาจากฐานการขยายตัวช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สูงถึง 7.7% ปัจจัยที่ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด น่าจะมาจากภาคการลงทุน”

นายดนุชา กล่าวว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวในช่วง 2.7-3.2% โดยมีค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ 3.0% เท่ากับการประมาณครั้งที่ผ่านมา โดยขยายตัวสูงขึ้นจาก 1.5% ในปี 2564 และเป็นการปรับช่วงประมาณการให้แคบลงจาก 2.5-3.5% โดยเฉพาะจากกรอบบนจากเดิม 3.5% ลงมาเหลือ 3.2% เนื่องจากเหตุผลในเรื่องปัจจัยความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นหลังจากธนาคารกลางของหลายประเทศเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่สำคัญ ได้แก่ 1. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคภายในประเทศ ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด

2. การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ตามการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการยกเลิกระบบการลงทะเบียน Thailand Pass และ 3. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคการเกษตร ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ที่ขยายตัวถึง 9.8%

อย่างไรก็ดี ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1. ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลก 2. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจ

3. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการระบาดของโรคฝีดาษลิง และ 4. ความเสี่ยงจากสถานการณ์อุทกภัย โดยยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดพายุขึ้นในช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งจะนำไปสู่สถานการณ์อุทกภัย

นายดนุชา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ว่า มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวในระดับ 2.4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งตัวขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ในขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง แต่ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงาน สถานการณ์อุทกภัย และการระบาดของไวรัสโควิดและฝีดาษลิง ยังเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ได้ ซึ่งจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ที่ส่งผลให้ต้นทุนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ที่ผ่านมากระทรวงการคลังจะได้ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้ช่วยตรึงดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น และเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ก็คงต้องติดตามดูเช่นกัน เพราะถ้าไม่ได้ทำอะไรเลย ก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอลงบ้าง

ส่วนเม็ดเงินที่ยังคงเหลือใน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ขณะนี้ยังมีวงเงินคงเหลืออีกราว 4 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งในก้อนนี้ยังต้องนำไปใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาล และค่ายาสำหรับผู้ป่วยโควิดในอนาคต ซึ่งอาจทำให้มีเม็ดเงินที่พอจะเหลือไปใช้สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก

ดังนั้น การทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาในช่วงหลังจากนี้ จะต้องเป็นมาตรการที่ตรงเป้าหมายและเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการช่วยเหลือภาคครัวเรือน และผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย และจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการคลังในระยะยาว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน