กกร. ขยับเป้าจีดีพีอย่างน้อยโตได้ 3% – ห่วงน้ำท่วมสร้างความเสียหาย 5,000-10,000 ล้านบาท จับตาเงินเฟ้อ-ศก.โลกถดถอยกดดันส่งออกชะลอ
กกร.ห่วงน้ำท่วมสูญหมื่นล. – นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 อยู่ในกรอบ 3-3.5% เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดไว้จะโต 2.75-3.5% มูลค่าการส่งออกคาดจะขยายตัวได้ในกรอบ 7-8% เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดไว้โต 6-8% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดอยู่ในกรอบ 6-6.5% เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดไว้โต 5.5-7%
ทั้งนี้ เนื่องจากประเมินเศรษฐกิจไทยได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับสูงขึ้นกว่าที่คาด โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนส.ค.อยู่ที่ 1.17 ล้านคน และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 9-10 ล้านคน ส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ส่งเสริมอุปสงค์ภายในประเทศให้ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงต่อกำลังซื้อของครัวเรือน และความเสี่ยงต่อรายได้ภาคเกษตรจากภาวะน้ำท่วม
“ภาคเอกชนมีความห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ ซึ่งคาดการณ์ความเสียหายรวมทั้งประเทศประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะโซนเมืองในหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจกระทบต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชน รวมถึงภาคการเกษตรยังได้รับผลกระทบบ้างในพื้นที่เพาะปลูกข้าว แต่โดยรวมยังไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมผู้ประกอบการ ยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านอุทกภัยได้”
นอกจากนี้ กกร.ยังประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยืนอยู่ในระดับสูง แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกจะลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นปัจจัยกดดันต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะต้องส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการต่อไป เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศยังไม่สามารถลดลงได้มากนัก และค่าไฟฟ้ามีการปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนก.ย. อีกทั้งยังมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำด้วย
ขณะเดียวกัน ยังมีแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวที่ชัดเจนมากกว่าที่คาด จากผลกระทบของสงครามและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะปัญหาจากการโจมตีท่อส่งและการระงับส่งก๊าซของรัสเซียซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤตพลังงานและความเสี่ยงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังเผชิญข้อจำกัดจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานและการล็อกดาวน์ ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด สวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อาจกระทบการส่งออกของไทยได้