นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กิโลเมตร (ก.ม.) วงเงิน 31,375.95 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธาและงานระบบ 31,303 ล้านบาท และ ค่าเวนคืน 72.95 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอโครงการดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา คาดว่าจะพิจารณาเห็นชอบในเดือนธ.ค. 2565 หลังจากนั้นจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ดพีพีพี) ได้ภายในเดือนก.พ. 2566 หลังจากนั้นคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนมี.ค. 2566 หรือก่อนมีการเลือกตั้ง
“หลังจากผ่านความเห็นชอบของครม. แล้ว จะใช้เวลา 1-2 เดือน ในการตั้งคณะกรรมการมาตรา 36 เพื่อมาจัดทำเอกสารประกาศประกวดราคา (อาร์เอฟพี) และคาดว่าจะเปิดประมูลโครงการคัดเลือกเอกชน ได้ภายในช่วงปลายปี 2566 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2567-70 เปิดให้บริการปี 2571 สำหรับโครงการนี้มีการลงทุนในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP Gross Cost) โดย ทล. จะเป็นผู้ลงทุนการก่อสร้างงานโยธา และจ้างเอกชนบริหารจัดการ อายุสัมปทาน 30 ปี ซึ่งเป็นโครงการ ที่มีความคุ้มค่า และเชื่อมกับโครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ตรงพื้นที่บริเวณบางปะอิน”นายสราวุธ กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า รายละเอียดโครงการส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน มีจุดเริ่มต้นโครงการเป็นการก่อสร้างทางยกระดับต่อเนื่องจาก Dead End Structure เดิมของทางยกระดับอุตราภิมุข บริเวณ กม.33+924 ของ ถนนพหลโยธิน และจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.51+924 ของ ถนนพหลโยธิน ระยะทาง 18 กิโลเมตร (ก.ม.) และมีทางยกระดับ (Ramp) เชื่อมไปยังทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และทางหลวงหมายเลข 32 ระยะทาง 4 ก.ม. รวมระยะทางโครงการฯ ส่วนต่อขยาย 22 กิโลเมตร (ก.ม.) กำหนดให้มีด่านเก็บค่าผ่านทาง ทางขึ้น-ลง รวม 8 แห่ง ประกอบด้วย 1.ด่านรังสิต1 2.ด่านรังสิต 2 3.ด่านคลองหลวง 4.ด่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5.ด่านนิคมอุตสาหกรรมนวนคร 6.ด่านมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ 7.ด่านประตูน้ำพระอินทร์ และ 8.ด่านแยกต่างระดับบางปะอิน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะใช้ระบบการจัดเก็บค่าผ่านรูปแบบแบบไร้ไม้กั้น หรือ Multi-lane free flow (เอ็มโฟล์ว) เบื้องต้นกรมทางหลวง กำหนดให้จัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบเปิด (Open System) โดยชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางที่ด่านขาเข้า และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางแบ่งตามประเภทของยานพาหนะ และกำหนดให้มีวิธีการจัดเก็บค่าผ่านทาง