กกพ.จ่อเคาะลดค่าไฟเอกชน 40 สตางค์ รอตัวเลขหนี้กฟผ. ภาคเอกชนจวกแหลกผิดหวังแก้ไฟแพงของรัฐบาล โยนภาระกฟผ.-ปตท.

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 28 ธ.ค. คณะกรรมการกกพ.จะประชุมทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที งวดม.ค.-เม.ย.2566 ประเภทอื่นๆได้แก่ ธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ ตามนโยบายรัฐบาล

เบื้องต้นคาดว่า จะลดลงได้อีกประมาณ 40 สตางค์จากเดิมต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย หรือค่าไฟเฉลี่ยรวมเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย แบ่งเป็น 20 สต.แรกมาจากการปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) รวมทั้งค่าน้ำมันดีเซล ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 20 สตางค์ รอตัวเลขการจ่ายหนี้สะสมของกฟผ.จากเดิมต้องจ่ายให้กฟผ. 33 สตางค์ต่อหน่วยว่า กฟผ.จะรับคืนลดลงได้เท่าไร เช่น รับคืนก่อนครึ่งหนึ่ง หรือ 16-20 สตางค์ รวมแล้วก็จะลดได้ประมาณ 40 สตางค์

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างให้กกพ.จัดทำตัวเลขค่าเอฟทีใหม่ ให้กับภาคธุรกิจให้ถูกลงจากเดิมว่า รู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่กระทรวงพลังงานชี้แจงออกมา เช่น ให้เอกชนบางส่วนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตให้มีการใช้ลดลงเพื่อลดนำเข้าแอลเอ็นจี หันไปใช้น้ำมันเตา และดีเซล แทนเป็นการชั่วคราว ซึ่งกรณีที่ต้องใช้ระยะเวลา ไม่สามารถทำได้ทันที ส่วนตัวมองว่า แนวทางของกระทรวงพลังงาน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้นำแนวทางข้อเสนอ 5 ข้อของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือกกร. ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นำไปพิจารณาเลย

“กลุ่มโรงงานเมื่อเลิกใช้น้ำมันเตา ก็รื้อถังทิ้งมาเปลี่ยนเป็นท่อเพื่อใช้แก๊สแทน ตอนนี้หลายโรงงานเริ่มกลับมาใช้น้ำมันเตาจะต้องหาถังมาใส่ใหม่ ต้องใช้เงินลงทุนและเวลาในการปรับเปลี่ยน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการเดินท่อน้ำประปา ซึ่งเอกชนพยายามดูประเด็นว่า สิ่งที่ต้องทำจะต้องอย่างไรมากกว่า เพราะการแก้ปัญหายังเป็นวิธีเดิม ดังนั้นเราจึงยืนยันให้แก้ที่ต้นเหตุตาม 5 ข้อที่กกร.เสนอ เช่น ค่าความพร้อมจ่าย หรือเอพีของโรงไฟฟ้าเอกชนควรจะปรับตัวลงบ้างหรือไม่ ไม่พูดถึงประเด็นนี้เลย ทั้ง ๆ ที่ภาครัฐมีเครื่องมือ ทั้งนโยบาย กฎหมายและการกำกับดูแล ก็เลือกสั่งแต่กฟผ. เพราะอยู่ภายใต้กำกับ จนไม่สามารถแบกรับภาระไหวแล้ว”

ส่วนภาระหนี้กฟผ. กระทรวงการคลังควรเข้ามาช่วยเหลือ เช่น ออกบอนด์ เพื่อระดมเงินทุนจากประชาชนแล้วเพื่อมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กฟผ. แต่ปัญหาตอนนี้ คือ นายสุพัฒนพงษ์ ได้พิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ ทุกคนรักษาบทบาทตัวเองหมด ดังนั้นนายกรัฐมนตรี จะต้องสั่งการ อีกทั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจมีไว้ทำไม ควรจะหารือว่า จะเอาอย่างไรให้ดีที่สุด ถ้าเป็นหน่วยงานอื่นเชื่อว่า จะมีวิธีการหาทางออกที่ดี

นอกจากนี้กรณีที่นายสุพัฒนพงษ์ ระบุว่า ให้เอกชนเข้ามาหารือนั้น ยืนยันว่าได้ทำหนังสือไปหากระทรวงพลังงาน 4-5 ฉบับแต่ก็ไม่เคยเปิดช่องให้หารือเลย ทั้งที่เป็นรองนายกฯ ดูเรื่องเศรษฐกิจควรจะหารือกับหลายๆ กระทรวง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องของใบอนุญาตโรงงานช่วยกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อเดินหน้าปลดล็อคทุกเรื่องที่เสนอไป ซึ่งจะทำได้หรือไม่ได้ ก็ควรที่จะมาคุยกันให้ผู้มีอำนาจผลักดันจะดีกว่ามาแก้ปัญหาปลายเหตุ ใช้กลไกภาครัฐนอกเหนือจากกระทรวงพลังงานขับเคลื่อนร่วมกัน

“กกพ.น่าจะปรับลดค่าไฟลงแต่ก็ไม่เยอะ เอกชนมองว่า ขั้นต่ำไม่ควรต่ำกว่า 40 สตางค์ ความหวังเราคือแก้ปัญหาตรงจุดตามวิธีที่เหมาะสม ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรเราก็ยอมรับได้ เราอยากให้การทำงานเป็นเชิงรุกสร้างสรรค์ ผลที่ได้ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ ไม่ใช่ว่ายังไม่ทำแล้วบอกว่าไม่ได้ก็ไม่มีใครยอมหรอก ผลที่ออกมาเป็นวิธีของเขา เราก็ไม่พอใจอยู่แล้ว เพราะวิธีการที่เสนอไปยังไม่ได้เอามาพิจารณาเลย รอบนี้เป็นระเบิดเวลาจริงๆ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน