กยท. คาดปี 2566 ยางพารา ราคาพุ่ง เหตุโรคใบร่วงระบาด ผลผลิตลดลงทั่วโลก เศรษฐกิจโลกฟื้น ความต้องการสูง คาดไทยส่งออกได้ 4.4 ล้านตัน น้อยกว่าปี 2565
วันที่ 9 ก.พ. 2566 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า สมาคมผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) ออกมาส่งสัญญาณการลดลงของผลผลิตยางพาราทั่วโลก เนื่องจากการระบาดของโรคใบร่วง ทั้งปีอาจทำให้ทั่วโลกผลิตยางพาราได้เพียง 14.31 ล้านตัน น้อยกว่าความต้องการใช้ทั่วโลกที่สูงกว่าประมาณ 9% หรือมีความต้องการใช้อยู่ประมาณ 15.563 ล้านตัน ส่งผลให้ราคายางพารามีโอกาสปรับตัวลูงขึ้น จากปี 2565 ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 54.79 บาท/กิโลกรัม ราคายางแผ่นดินอยู่ที่ 58.51 บาท/กิโลกรัม
นายณกรณ์ กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากโรคใบร่วง ส่งผลให้ผลผลิตยางปี 2566 ลดลงอย่างมาก อาทิ ฟิลิปปินส์ ผลผลิตลดลง 90% ส่งผลให้เกษตรกรหันไปปลูกทุเรียนแทน, อินโดนีเซีย ผลผลิตลดลง 3-5 แสนตัน ส่วนประเทศไทย ผลผลิตลดลงประมาณ 1.9% ของผลผลิตในปี 2565 หรือลดลงประมาณ 2 แสนตัน และเกษตรกรชาวสวนยางยังได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน คาดการณ์ผลผลิตได้ไม่ชัดเจน และยังประสบปัญหาแรงงานขาดแคลน กระทบต่อการทำสวนยาง
“การส่งออกยางพาราปี 2566 คาดว่าไทยจะส่งออกได้ประมาณ 4.4 ล้านตัน ลดลงจากปี 2565 ที่ส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา 6.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นยางแผ่นดิบ 2.8 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพารา คาดว่าราคายางพาราจะปรับตัวสูงขึ้นจากผลผลิตที่ลดลง และความต้องการที่สูงกว่าผลผลิต โดยเดือน ม.ค. 2566 ผลผลิตยางพาราของไทยลดลง 26% จากสภาพอากาศที่แปรปรวนและโรคใบร่วงระบาด”
นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า ปี 2566 ถือเป็นโอกาสของยางพาราในตลาดโลก เนื่องจากมีสัญญาณการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจโลก จีนประกาศยกเลิกนโยบาย โควิดเป็นศูนย์(Zero-covid) ส่งผลให้เกิดกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ กระตุ้นให้เกิดความต้องการยางล้อและยางธรรมชาติ จากการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) มากขึ้น แต่ยางพารายังมีความท้าทายที่ต้องจับตาคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจยืดเยื้อ กระทบต่อราคาพลังงาน และเงินเฟ้อของยุโรป รวมถึงเรื่องการกีดกันทางการค้าของประเทศผู้ซื้ออาจนำมาใช้มากขึ้น