นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย สำรวจเมื่อเดือนธ.ค. 2560 ในกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม ประชาชน ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และข้าราชการ ภาครัฐ จำนวน 2,400 ตัวอย่าง พบว่า ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น สูงขึ้น 37% และเมื่อคาดการณ์ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในปี 2561 สูงขึ้น 48% โดยสาเหตุสำคัญในการเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากกฎหมาย เปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริตถึง 18.8% รองลงมาเป็นเรื่องของกระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก 15.6% และความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ 14.7%

ขณะที่รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยที่เกิดขึ้นบ่อยพบสุดคือการให้สินบน ของกำนัลหรือรางวัลต่างๆ 19.6% การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก 16.2% และการทุจริตเชิงนโยบาย โดยดำรงตำแหน่งทางการเมือง 13.8% และส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก และแม้รัฐบาลได้ทำการทุจริตแต่มีผลงานและเป็นประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องที่ส่วนใหญ่รับไม่ได้ เท่ากับการให้สินบนแก้รัฐเป็นเรื่องที่เสียหายมากที่ได้จากการสำรวจจากประชาชนและที่เกี่ยวข้อง

ส่วนประสิทธิภาพการต่อต้านคอรัปชั่นในหน่วยงานที่ดูแลรับว่ามีประสิทธิภาพดีขึ้น และความเชื่อมั่นในหน่วยงานต่างๆ เช่น สมาคมธุรกิจ ผู้ประกอบการ ประชาชน สื่อมวลชน หน่วยงานรัฐ ในการต่อต้านการทุจริตนั้นอยู่ในระดับเกิน 50% ถือว่าดีขึ้นสะท้อนว่าส่วนใหญ่พร้อมให้ความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ขณะที่ สิ่งสำคัญที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้ คือการเสริมสร้างจิตสำนัก จริยธรรม และค่านิยมความซื่อสัตย์ การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด มีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาด และปรับปรุงกฎระเบียบในการประมูลงาน การจัดซื้อจัดจ้าง สัปทาน เป็นต้น และควรลงมือทำทันที คือ การสร้างกระบวนการ งิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีคงามโปร่งใส ตรวจสอบได้โดยบุคคลภายนอก สร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต และจัดวางระบบ ขั้นตอนในการทำงานของภาครัฐโดยรวม

อย่างไรดี จากการสำรวจเดือนธ.ค.ปี 2560 พบว่า เปอร์เซ็นเงินเพิ่มพิเศษของรายรับที่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญา เฉลี่ย 5-15% เท่ากับว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในปี 2561 ประมาณ 66,271-198,814 ล้านบาท สร้างความเสียหายต่อจีดีพี 0.41-1.23% และนอกจากนี้ หากเกิดการทุจริตด้านงบประมาณเสียหาย เฉลี่ย 2.29-6.86% ต่องบประมาณรายจ่าย และการลดการเรียกเงินสินบนทุกๆ 1% ส่งผลให้การคอร์รัปชั่นลดลง 10,000 ล้านบาท

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นไทยเดือนธ.ค. 2560 เทียบกับเดือนมิ.ย. 2560 พบว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยแย่ลง จากคะแนน 53 เหลือ 52 คะแนน เช่นเดียวกับดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยในปัจจุบัน และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยในอนาคตที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน

ขณะที่สถานการณ์การสร้างเครือข่ายต่อต้าน สร้างจิตสำนึก ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นดีขึ้นในรอบ 7 ปีแต่ปัญหาคอร์รัปชั่นเริ่มกลับมาจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเข้ามา ซึ่งปัญหาก็จะเกิดขึ้น ซึ่งประเมินว่าจะรุนแรงในรอบ 3 ปี จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล ที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนพยายามหาช่องว่างในการจ่ายใต้โต๊ะ ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าในเดือนธ.ค. 2560 เปอร์เซ็นการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ หรือ การจ่ายใต้โต๊ะของเอกชนแก่หน่วยงานรัฐ และนักการเมืองเพื่อให้ได้งาน มีทิศทางเพิ่นขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 5-15% ของมูลค่างบประมาณลงทุน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยการจ่ายเงินใต้โต๊ะเท่ากับก่อนหน้าที่มีการทำรัฐประหาร ในปี 2557 ซึ่ง การเรียกเงินสินบนเฉลี่ย 5-15% จะทำให้เกิดความเสียหาย 1-2 แสนล้านบาท

ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะประเด็นการช่วยเหลือ หรือ การอำนวยความสะดวกให้กับพวกพ้อง จะทำให้ดัชนีคอร์รัปชั่นในการสำรวจครั้งต่อไปลดลงอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะสามารถจริงจังและเป็นแบบอย่างให้ประชาชนเห็นได้หรือไม่

ขณะที่นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ตั้งข้อสังเกตุถึงการพิจารณาร่างกฎหมายการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ ที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ตั้งแต่เดือนส.ค. 2560 จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาความไม่โปร่งใส่ เช่น กรณีการยืมเงินหรือทรัพย์สินของเพื่อนได้ นอกจากนี้ กฎหมายปัจจุบันยัง มีช่องว่างในเรื่องของการตีความและใช้ดุลพินิจในการพิจารณาข้อกล่าวหา

พร้อมเสนอให้ผู้นำระดับประเทศ ควรมีเกียรติมีศักดิ์ศรี และเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น มากกว่าการยึดการตีความของกฎหมาย เพราะหากกลุ่มผู้ที่คอร์รัปชั่น เห็นว่าระดับผู้นำยังคอร์รัปชั่นได้ ก็จะทำให้ลดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย และส่งผลให้เกิดการคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้นในที่สุด

ทั้งนี้ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จะมีการประเมินคะแนนการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นไทยในวันที่ 21 ก.พ.นี้ ซึ่งจากการประเมินในปี 2559 พบว่าไทยได้คะแนนดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นลดลง จากคะแนนที่ 38 มาอยู่ที่ 35 ส่งผลให้อันดับตกจากอันดับที่ 76 มาอยู่ที่ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน