นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2566 จาก 1.8% เป็น 2.3% เนื่องจากข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด และจีนเปิดประเทศเร็วขึ้น ทำให้มีแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวแข็งแกร่งในรอบ 3 ปี จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน
ขณะที่สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้ โดยมองว่าสถานการณ์ Silicon Valley Bank ในสหรัฐ ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องและถูกปิดลง คาดว่าในระยะสั้น จะทำให้สภาพคล่องและความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกปรับลดลงเล็กน้อย และความเสี่ยงที่จะลุกลามจนเกิดวิกฤตการเงินโลกเหมือนในปี 2551 ยังมีน้อย
แต่ทั้งนี้ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด เช่นเดียวกับความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐ และจีนที่อาจกระทบเศรษฐกิจ การค้า และห่วงโซ่อุปทานโลกได้
สำหรับภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปของโลกแม้มีแนวโน้มต่ำลงตามราคาพลังงานโลกที่ปรับลดลง แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังชะลอลงได้ช้ากว่า จากตัวเลขการจ้างงานที่ยังแข็งแกร่งสนับสนุนให้แรงงานมีการใช้จ่ายได้ดี ธนาคารกลางจึงมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นกว่าระดับที่เคยคาดไว้ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50-0.75% สู่ระดับ 5.25-5.5% จากเดิมคาดว่าจะปรับ 0.25-0.50% เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 3.75% จากเดิมคาด 3.25%
ทั้งนี้ อัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้จะลดลงจากปีก่อนมาก ทำให้ภาวะทางการเงินโลกจะตึงตัวขึ้นอีกไม่มาก
ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2566 ปรับประมาณการจาก 3.4% เป็น 3.9% ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะอยู่ที่ 30 ล้านคน แต่อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงขึ้นกระทบห่วงโซ่อุปทานโลกและการส่งออกไทย รวมถึงนโยบายการเงินโลกที่ตึงตัวแรงขึ้นจากเงินเฟ้อโลกลดลงช้า และหนี้ครัวเรือนกลับมาเร่งตัวส่งผลกดดันการบริโภค ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐในระยะข้างหน้า