นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 26-29 มิ.ย. 2566 กนอ. ได้นำคณะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมจาก 10 นิคมอุตสาหกรรม เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย ณ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอข้อมูลปัจจุบันของพื้นที่การลงทุนในประเทศไทย ศักยภาพและความพร้อมรองรับการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
กนอ. ให้ความสำคัญกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S – Curve โดยพร้อมเจรจากลุ่มอุตสาหกรรม 3-4 ราย เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และพลังงานทดแทน เพื่อชักจูงให้มาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด ตั้งเป้าหมายการโรดโชว์ครั้งนี้ไว้ 3,700 ล้านบาท และพื้นที่ขายหรือเช่าพื้นที่อยู่ที่ 200 ไร่
ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,951 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 3,103,176.5 ล้านบาท นับตั้งแต่ต้นของกนอ. ซึ่งกว่า 70% ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก คือ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง 2.อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ 3.อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 4.อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม และ 5.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์
“กนอ. พร้อมผลักดันการลงทุนตามแผนงานอย่างเต็มที่ พร้อมได้ยืนยันกับนักลงทุนญี่ปุ่นว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลปัจจุบัน หรือรัฐบาลใหม่ ยังเดินหน้าโครงการอีอีซีอย่างต่อเนื่อง และกนอ. จะร่วมเดินหน้าผลักดันโครงการอีอีซี โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ให้เป็นไปตามเป้าหมายปลายปี 2567 ในขณะที่ความกังวลเรื่องการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ เชื่อว่านักลงทุนทุกประเทศไม่ได้กังวล เพราะทุกประเทศเชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีในระดับหนึ่ง ค่าแรงงานก็ต้องปรับอยู่แล้วไปอีกระดับหนึ่ง เพียงแต่ขึ้นอยู่กับจังหวะที่เหมาะสม”