นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึง ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เดือนมิ.ย. 2566 ว่า มีค่าเท่ากับ 107.83 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้น 0.23% เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 3.37% ขณะที่หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.88% ถือเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน เนื่องจากราคาสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ลดลงมาก โดยเฉพาะเนื้อหมูจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และการลดลงของราคาน้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ และเบนซิน รวมทั้งฐานราคาที่นำมาคำนวนเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.ปีก่อนสูง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย มิ.ย. 2566 เทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้น 0.6% ตามราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่สูงขึ้น 1.05% ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.02% สำหรับเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.49%
“ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำลง เพราะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังทรงตัว และอยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาเนื้อสัตว์ก็ยังจะลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเงินเฟ้อไตรมาส 3 น่าจะอยู่ที่ 0.77% ไตรมาส 4 อยู่ที่ 0.62 % ดังนั้น สนค. จึงปรับลดเป้าเงินเฟ้อปีนี้ลง จากเดิมอยู่ระหว่าง 1.7-2.7% หรือค่ากลาง 2.2% เป็น 1.0-2.0% หรือค่ากลาง 1.5% ภายใต้สมมุติฐาน จีดีพีขยายตัว 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-35.5 บาท/เหรียญสหรัฐ”
นายวิชานัน กล่าวยอมรับว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้า โดยเฉพาะอิทธิพลจากปัญหาภัยแล้งที่จะทำให้ราคาผัก และผลไม้ และอาหารปรับเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งของโลกที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยกับ 126 ประเทศทั่วโลก จะเห็นว่า เงินเฟ้อของไทยในเดือนพ.ค.ที่ 0.53% นั้น ต่ำเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และต่ำที่สุดในอาเซียน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมิ.ย. 2566 ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 56.1 จากระดับ 56.6 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากกังวลปัญหาเรื่องการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่ชัดเจน แต่ความเชื่อมั่นยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สะท้อนจากภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น และมาตรการภาครัฐที่ลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับลดค่าไฟฟ้า และการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล
อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าและบริการที่อยู่ระดับสูง และช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนและการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน และการลงทุนในภาครัฐชะลอตัว รวมทั้ง ภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยทอนให้ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับลดลง