นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. 2566 เท่ากับ 107.45 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลง 0.44% เป็นผลมาจากราคาสินค้าและบริการที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.87% อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91 และค่าโดยสารรถไฟฟ้าจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.20% ตามการปรับขึ้นราคาข้าวสาร แป้ง ไข่ นมข้นหวาน เป็นต้น

“เงินเฟ้อลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และเดือนพ.ย. 2566 ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 33 เดือน เนื่องจากมาตรการภาครัฐด้านพลังงาน ทำให้ราคาน้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์91 ซึ่งมีสัดส่วนสำคัญในการคำนวนเงินเฟ้อปรับลดลง รวมทั้ง เนื้อสุกร ไก่สด และน้ำมันพืช ก็มีราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบ 2 เดือน แต่ไทยยังไม่มีปัญหาเงินฝืด เพราะสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงคือการใช้มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ รวมทั้งเศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 2.5% ขณะที่ปีหน้าจะโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.7-3.7%”

ส่วนอัตราเงินเฟ้อ พ.ย. 2566 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลง 0.25% โดยหมวด ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.58% ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.23% ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2566 สูงขึ้น 1.41% ยัง อยู่ในเป้าหมาย 1.0-3.0%

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 2566 ว่าจะลดลงต่อเนื่อง ตามราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ และพลังงาน ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง คาดว่าทั้งปีนี้ เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.0-1.7% ค่ากลาง 1.35% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 2567 คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง อยู่ระหว่าง -0.3 – 1.7% ค่ากลางอยู่ที่ 0.7% เนื่องจาก มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญค่อนข้างจำกัด เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น และหนี้ครัวเรือนที่สูง อาจเป็นปัจจัยกดดันการบริโภค

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. 2566 ของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่า เงินเฟ้อของไทยลดลง 0.31% ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 8 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับในหลายประเทศทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง

สำหรับความกังวลเรื่องการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 ต่อภาวะเงินเฟ้อ นั้น ขณะนี้ยังไม่กังวลว่าจะกระทบเงินเฟ้อ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าหรือไม่ แต่เชื่อว่ารัฐบาลอาจจะใช้มาตรการลดค่าครองชีพประชาชนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน