นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลง 0.6% คือ ปรับจาก 3.2% เหลือ 2.6% ส่งผลให้มูลค่าจีดีพีหายไป 107,602 ล้านบาท โดยคาดว่าจีดีพีภาคเกษตร จะขยายตัว 2% นอกภาคเกษตร ขยายตัว 2.8% การบริโภคเอกชน ขยายตัว 2.8% การบริโภคภาครัฐ ขยายตัว 1.5% ส่วนภาคการลงทุนรวม ขยายตัว 2.4% โดยการลงทุนภาครัฐหดตัว 1% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3.1% การส่งออก ขยายตัว 2.8% การนำเข้า ขยายตัว 3.8% รายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 1.61 ล้านล้านบาท อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ขยายตัว 1% อัตราการว่างงาน 1.14% และสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 89.8%
สาเหตุของการปรับลดจีพีพี เนื่องจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟปรับลดปริมาณการค้าโลกลง จาก 3.5% เหลือ 3.3% จากปัญหาในทะเลแดง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า อาทิ การบริโภคภาคเอกชนช่วง 3-4 เดือนเริ่มชะลอตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มหดตัว การเบิกจ่ายงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและงบลงทุนต่ำกว่าที่คาด รวมถึงราคาน้ำมันดิบดูไบยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจาก 85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเป็น 87.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับคาดการจีดีพีรายไตรมาสคาดว่าไตรมาสที่ 1 จะโตได้ 2% ถือว่ายังซบเซา แต่ไตรมาสที่ 2 จะโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ไตรมาสที่ 3 และ 4 จะเติบโตแบบขยาย ในอัตรา 3.1% และ 2.8% ตามลำดับ
“แม้ว่าเราจะปรับเป้าเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 2.6% แต่เมื่อดูจากแนวโน้มการส่งออก การท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้มากกว่านี้ เพราะเราเริ่มเห็นสัญญาณจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย กำลังจะโตเปลี่ยนจากเคเชฟ เป็นยูเชฟ เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ดังนั้นโจทย์ใหญ่ที่สุดในขณะนี้คือ รัฐบาลจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่า 3%”
นายธนวรรธน์กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตเกิน 3% ได้ โดยจะต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่ คือ 1.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำในช่วงกลาง เม.ย.ที่งบมีผลบังคับใช้ เพราะทุกๆ 1 แสนล้านบาท จะทำให้จีดีพีโตเพิ่ม 0.52%
2.เร่งเบิกจ่ายงบลงทุน เพราะจะทำให้จีดีพีขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.68% ทุกๆ การเบิกจ่าย 1 แสนล้านบาท 3.เร่งมาตรการการคลังผ่านเงินโอนเช่นโครงการดิจิตัลวอลเล็ต เพื่อกระตุ้นการบริโภค เพราะจะผลักให้จีดีพีโตเพิ่ม 0.26% ทุกๆ เงินโอน 1 แสนล้านบาท
4.เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากมาตรการฟรีวีซ่าชั่วคราว และถาวร โดยนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 ล้านคน จะดันให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.26% ซึ่งคาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 35 ล้านคนได้อย่างแน่นอน 5.เพิ่มรายจ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 แสนล้านบาท จะมีผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.56%
และ 6.เร่งมาตรการด้านการเงิน ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยทุกๆ การปรับลด 0.25% จะมีผลทำให้จีดีพีโตเพิ่ม 0.12% เนื่องจากจะทำให้มีปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 1.5 แสนล้านบาท สามารถช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยให้ประชาชนและธุรกิจ 3.75 หมื่นล้านบาท และช่วยเพิ่มปริมาณสินเชื่อในระบบอีก 1.12 แสนล้านบาท จากปริมาณสินเชื่อรวมทั้งระบบที่ 15 ล้านล้านบาท