ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เชิงสร้างสรรค์ที่มีอัตลักษณ์ของภูมิภาคสู่สากล ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 8-11 มีนาคม 2561 ณ อาคารพิษณุโลกคอนเวนชั่น โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก

บริษัท มาเหนือเมฆ คอนซัลติ้ง เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้ดำเนินการจัดโครงการ นำวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชนอบรมเชิงปฏิบัติการและจัดทำ Design Work shop ให้กับผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3 – 5 ดาว รวมทั้งผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการให้มีศักยภาพทางการผลิต และมีความพร้อมในการพัฒนาเชิงการตลาด โดยมีผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเข้าโครงการจำนวน 15 ราย 15 ผลิตภัณฑ์ ในพื้นที่ดำเนินงาน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก 7 ราย และจังหวัดเพชรบูรณ์ 8 ราย

ดร.วรศักดิ์ รงค์เดชประทีป ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศให้เป็นยุค 4.0 ภายใต้กรอบการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนพื้นฐานความได้เปรียบเชิงวัฒนธรรม ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศไทยในมุมมองใหม่ ผนวกกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าบนพื้นฐานความรู้ มุ่งเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนและยกระดับขีดความสามารถเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

ดังนั้นจึงสนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของประเทศ พร้อมพัฒนาผู้ประกอบการที่ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ให้มีความยั่งยืน และพัฒนาสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการโอท็อป เพื่อให้สินค้าที่ผลิตออกมาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานและมีเอกลักษณ์

ด้านนายกำจร แซ่เจียง อาจารย์ประจำ ม.รังสิต วิทยากรของโครงการ กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่มาร่วมโครงการครั้งนี้มีสินค้าที่มีอัตลักษณ์และมีความแตกต่าง จึงควรสร้างจุดเด่นของการออกแบบอย่างสร้างสรรค์เพื่อดึงดูดลูกค้า ทั้งผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และตราสินค้า เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เหนือคู่แข่ง สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผู้ผลิตสินค้า ใช้จุดแข็งของชุมชนทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญา เพื่อเชื่อมโยงสู่ภาคการผลิตและบริการในการสร้างอัตลักษณ์ของสินค้าในแต่ละภูมิภาค เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดให้มากยิ่งขึ้น สามารถยกระดับจากท้องถิ่นไปสู่ระดับประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศได้ในที่สุด

นายบำรุง อิศรกุล นักออกแบบ กราฟิกดีไซน์เนอร์ นำความรู้ด้านการการค้นหาอัตลักษณ์ชุมชนเพื่อการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กล่าวถึงความสำคัญของการออกแบบว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์และตราสินค้า ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล จะต้องอาศัยตราสินค้าที่เป็นเสมือนสื่อประชาสัมพันธ์เป็นตัวแทนของผู้ผลิต เพื่อช่วยส่งเสริมให้สินค้าเป็นที่จดจำง่าย ซึ่งจะนำไปสู่การกระจายออกของสินค้าเป็นวงกว้าง

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ OTOP ของไทย ยังขาดการพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และละเลยความสำคัญของการพัฒนาในเรื่องเหล่านี้ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดไม่มีประสิทธิภาพ หน่วยงานภาครัฐ จึงจำเป็นที่จะต้องตอบสนองความต้องการและช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการให้บริการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ และตราสินค้า ที่ตรงกับความต้องการของตลาดอย่างถูกต้องเหมาะสมและสร้างสรรค์ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน