นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2567-2580 (พีดีพี 2024) ซึ่งมีกำหนดเปิดรับฟังความคิดเห็นกลุ่มภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพ ในวันที่ 12-13 มิ.ย. 2567 และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นรูปแบบออนไลน์ใน 4 ภูมิภาค ครอบคลุมทั่วประเทศผ่านช่องทาง Facebook : EPPO Thailand และเว็บไซต์ www.eppo.go.th ตั้งแต่วันที่ 19-23 มิ.ย. 2567 ซึ่งข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็น สนพ. จะนำไปประกอบการปรับปรุงทั้งแผน ให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนต่อไป
โดยเบื้องต้นแผนจะมีการชี้ใช้เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือไม่เกิน 17 ชั่วโมง จาก 8,760 ชั่วโมง จากเดิมใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) และตั้งเป้าหมายค่าไฟที่เรียกเก็บกับประชาชนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันหรือเปลี่ยนแปลงไม่มาก เฉลี่ยไม่เกิน 4 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ ยังกำหนดเป้าหมายมาตรการเปลี่ยนแปลงพฤติกกรรมการใช้ไฟฟ้า (Demand response) 1,000 เมกะวัตต์ เพื่อกระจายความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ให้กระจุกตัวในเวลาเดียวกัน เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) รวมถึงจะมีโรงไฟฟ้าใหม่และเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาพิจารณา ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ โซลาร์ โซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์บวกด้วยระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นทางเลือก
ส่วนความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในระยะยาว พบว่า ภาพรวมความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงจาก 4,859 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2567 เป็น 4,747 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2580 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลดลง เนื่องจากการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและไฮโดรเจน การใช้ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ลดลงตามปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และการใช้ในภาคขนส่ง ตามจำนวนรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ที่มีแนวโน้มลดลง