นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค. 2567 ว่า มีค่าเท่ากับ 108.84 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่ 107.19 ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 1.54% โดยเป็นผลจากราคาสินค้าและบริการ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.13% จากการสูงขึ้นของราคาผักสด และผลไม้ อาทิ ถั่วฝักยาว ผักชี มะม่วง องุ่น รวมทั้งข้าวสารเจ้า ไข่เป็ด และอาหารตามสั่ง

ขณะหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มมีราคา สูงขึ้น 1.84% จากการสูงขึ้นของราคาเชื้อเพลิง แก๊สโซฮอล์ 91 95 และ E20 น้ำมันเบนซิน 95 ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้านเป็นต้น ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.39% เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ลดลง 0.13% แต่เร่งตัวขึ้นเมือเทียบกับช่วง 4 เดือนแรกปี 2567 ที่มีอัตราลดลง 0.55%

“อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ที่สูงขึ้น 1.54% ถือเป็นอัตราที่สงสุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. ปีก่อน ที่มีฐานะราคาต่ำมากจากการรัฐบาลให้ส่วนลดจำนวนมาก ขณะที่น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ก็ปรับราคาขึ้นตามตลาดโลก รวมถึงผักสด และไข่ไก่ราคาก็ขัยบเพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลงจากภาวะภัยแล้ง”

นายพูนพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. 2567 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง อยู่ในอัตรา 1-1.1% เนื่องจากผลกระทบจากฐานราคาต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าลดลง รัฐบาลมีการต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของครัวเรือน อีก 4 เดือน (พ.ค.-ส.ค. 2567) ขณะที่ ราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะผักสดมีแนวโน้มลดลง หลังสิ้นสุดสภาพอากาศร้อนจัด และเข้าสู่ฤดูฝน รวมทั้ง เศรษฐกิจยังเติบโตต่ำทำให้ ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาขาย

ทั้งนี้ ยอมรับว่ายังคงมียังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้สินค้าบางชนิดยังอยู่ในระดับสูง คือ ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ ซึ่งปรับมาอยู่ที่ 33.00 บาทต่อลิตร และความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0-1.0% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง

นายพูนพงษ์ กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนพ.ค. 2567 ว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.4 จากระดับ 51.9 ในเดือนก่อนหน้า และปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากลดลงต่อเนื่อง 6 เดือน และอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18 นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2565 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.1 จากระดับ 44.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต 3 เดือนข้างหน้า ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.9 จากระดับ 56.8

สาเหตุการปรับเพิ่มขึ้นโดยรวม คาดว่ามาจาก ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้, การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2567 จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังของปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้น และภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ราคาพลังงานและค่าครองชีพ และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน