นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ซึ่งมีนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดคมนาคมเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการรถไฟฟ้าบีทีเอส การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แอร์พอร์ต เรียล ลิงก์ ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะอัพเกรดระบบตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุม ให้เป็นระบบ EMV (Euro/ Master Card และ Visa) หรือบัตรเครดิตแทน เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีบัตรเครดิตอยู่แล้ว โดยหากในอนาคตต้องการนำบัตรเครดิตไปใช้แตะหรือรูดบัตรจ่ายค่าเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะสามารถทำได้ โดยติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรว่าต้องการใช้ร่วมกับระบบบริการขนส่งสาธารณะ

“ที่ประชุมมอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) กลับไปศึกษาเพิ่มเติมว่าหากนำระบบบัตรเครดิตมาใช้แล้วจะต้องมีการลงทุนปรับระบบหัวอ่านบัตรตามสถานีอย่างไร ใช้วงเงินลงทุนติดตั้งระบบเท่าไหร่ และหน่วยงานใดต้องเป็นผู้ดำเนินการ รวมไปถึงกรอบเวลาการดำเนินการคิดตั้ง และเปิดให้บริการ ระบบ EMV ว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาเท่าไหร่จึงจะเปิดใช้บริการได้ โดยรฟม. จะนำผลสรุปเสนอให้คณะกรรมการบริหารจัดการฯ ได้พิจารณาอนุมัติในการประชุมสัปดาห์หน้า”

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า รฟม. ยืนยันว่าระบบ EMV จะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะลดลงกว่าการจัดทำระบบบัตรแมงมุม 40% เพราะไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการขายบัตรแมงมุม ขณะที่ประชาชนก็ไม่มีต้นทุนการซื้อบัตรแมงมุม, ไม่ต้องติดตั้งตู้ขายบัตร รวมทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างนับเหรียญ เพราะจะมีการใช้บัตรเครดิตชำระเงินผ่านระบบดิจิตอลแทน ส่วนระบบการจัดเก็บเงินค่าโดยสารเพื่อโอนคืนไปยังผู้ให้บริการแต่ละระบบคาดว่าธนาคารกรุงไทยจะรับผิดชอบเป็นหน่วยงานกลางในการรับโอนและจ่ายเงิน

สำหรับระบบ EMV ของบัตรเครดิตนั้นปัจจุบันได้รับความนิยมนำมาใช้ในระบบขนส่งสาธารณะกันอย่างแพร่หลาย เช่น ในประเทศอังกฤษ สิงคโปร์ เพราะเป็นเครือของวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด โดยปัจจุบันระบบบัตรเครคิตในโลก 90% เป็นระบบ EMV ส่วนในประเทศไทยพบว่ามีผู้ถือบัตรเครดิตในระบบ EMV มากถึง 70 ล้านใบ แบ่งออกเป็น บัตรเดบิต 50 ล้านใบ, บัตรเครดิต 20 ล้านใบ ซึ่งระบบนี้ จะรวมไปถึงบัตรพีเพดหรือเติมเงินด้วย

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลนำระบบ EMV มาใช้ จะใช้ได้ทั้งบัตรเดบิต เครดิต และพีเพด ขณะที่บัตรแมงมุม จะยังมีการผลิตออกมาจำหน่ายตามเดิม เพื่อตอบสนองประชาชนกลุ่มอื่น รวมไปถึงขายบัตรตามสถานีก็ยังมีให้บริการสำหรับผู้โดยสารที่สะดวกใช้เงินสดมากกว่า ซึ่งจะใช้จ่ายการเดินทางระบบสาธารณะได้ทุกระบบ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าของรฟม. ทุกเส้นทาง รถเมล์ ขสมก. และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ โดยในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์ คณะกรรมการสั่งให้มีการชะลอการเปิดซองคัดเลือกผู้ชนะการประมูลติดตั้งระบบตั๋วร่วมออกไปก่อน เพราะที่ประชุมมีมติจะปรับระบบตั๋วร่วมเป็นระบบ EMV

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน