นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีความคืบหน้าค่อนข้างมากในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่ได้รับรายงานว่ามาสด้า ได้ยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ค่ายบีเอ็มดับเบิลยู และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ลงทุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่อีวี

อุตสาหกรรมอากาศยาน ล่าสุดบริษัท แอร์เอเชีย เตรียมลงนามความร่วมมือลงทุนพัฒนาธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) หลังจากแอร์บัสได้ลงนามความร่วมมือกับการบินไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว บริษัท ซาบ ผู้ผลิตเครื่องบินรบและพาณิชย์จากสวีเดน อยู่ระหว่างหารือถึงแนวทางการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมดิจิตอล คาดว่าทางอาลีบาบาจะประกาศพื้นที่ลงทุนชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ปีนี้จะมีบริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทยเตรียมลงทุนด้านหุ่นยนต์รวมประมาณ 12,000 ล้านบาท อาทิ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และมีบริษัทจากจีนสนใจลงทุน นอกจากนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจลงทุนเช่นกัน อาทิ ฮิราตะ กำลังหารืออยู่ รวมทั้งเดนโซ่ ที่นำระบบเข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทยและอยู่ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมกล้วยน้าไท และฮิตาชิ ที่ลงทุนด้านบิ๊กดาต้าในอีอีซี เพื่อให้บริการหน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่ และอุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมไบโออีโคโนมี

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนที่มีความสนใจจะเข้าไปลงทุนในพื้นที่อีอีซีจำนวนมาก อาทิ นักลงทุนจากไต้หวัน จีน และญี่ปุ่น โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่มีความสนใจมาก เพราะไทยเป็นฐานการลงทุนและการผลิตหลักของนักลงทุนญี่ปุ่นในอาเซียน มั่นใจว่านักลงทุนจะทยอยตัดสินใจลงทุนได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนยังรอ พ.ร.บ.อีอีซี ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ คาดว่าในอนาคต หากอีอีซีประสบความสำเร็จเชื่อว่าจะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ถึง 5%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน