นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 ของธนาคารออมสิน วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน หรือนำไปใช้หนี้นอกระบบ ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล โดยเงื่อนไขการปล่อยกู้ออมสินจะปล่อยกู้ให้คนละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.85% ต่อเดือน คาดว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยให้ดีขึ้นประมาณ 200,000 ราย

ทั้งนี้ โครงการฯ นี้ ถือเป็นโครงการเฟส 2 ต่อเนื่องจากเฟสแรกที่อนุมัติให้ปล่อยกู้วงเงิน 5,000 ล้านบาท และเมื่อม.ค. 2561 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีการออกสินเชื่อในลักษณะนี้ไปแล้ว 10,000 ล้านบาท ซึ่งต่อเนื่องจากเฟสแรกที่ออกไปแล้ว 5,000 ล้านบาทเช่นกัน และสินเชื่อในเฟสแรกของออมสินและธ.ก.ส. ขณะนี้ก็ใกล้เต็มวงเงินแล้ว เช่นกัน ดังนั้นเมื่อครม. อนุมัติโครงการปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยครั้งนี้ ทำให้วงเงินที่ปล่อยกู้ให้รายย่อยขณะนี้เพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท ใน 2 ธนาคาร

“การยื่นกู้สามารถดำเนินการได้เลยหลังจากครม.อนุมัติโครงการ ภายใต้เงื่อนไขมีคนค้ำประกัน หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน กู้ได้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 5 ปีขอสินเชื่อภายใน 31 มี.ค. 2563 ซึ่งทั้ง 30,000 ล้านบาท จะทำให้มีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 6 แสนคน โดยจะไม่นำประวัติการชำระเงินจากเครดิตบูโรมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อ”

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สินเชื่อลักษณะดังกล่าวมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง รัฐบาลจึงกำหนดเงื่อนไขในการชดเชยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ ให้ธนาคารออมสินไว้ไม่เกิน 40% คิดเป็นวงเงินประมาณไม่เกิน 4,000 ล้านบาท หรือตามที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่ธ.ก.ส. ยังมีสินเชื่อและเงื่อนไขในการชดเชยเอ็นพีแอล ในลักษณะเดียวกัน คือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 ของ ธ.ก.ส. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่ครม.เห็นชอบไปแล้ว ดังนั้น ผู้มีรายได้น้อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน สามารถขอสินเชื่อได้ทั้งที่ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน