นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การเปิดรับรับฟังความคิดเห็นต่อของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. … เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (อีเพย์เมนต์) จะทำให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีถูกต้องอยู่แล้วมากขึ้น

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย คือผู้เสียภาษีสามารถยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรสามารถกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

นอกจากนี้ กฎหมายังกำหนดให้ สถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ รายงานการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้าให้กรมสรรพากรรับทราบ ประกอบด้วย 1. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี และ 2. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมของกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป โดยกรมสรรพากรจะเก็บข้อมูลเป็นเวลานาน 10 ปี

ทั้งนี้ หากสถาบันการดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามปรับ 1 แสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะรายงานข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน ในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่เปิดเผยข้อมูลผู้เสียภาษีก็มีการปรับโทษเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

นายประสงค์ กล่าวว่า การแก้กฎหมายนี้ไม่กระทบกับผู้เสียภาษีที่ถูกต้องอยู่แล้ว เช่น พนักงานหรือข้าราชการรับเงินเดือน และเดิมกรมสรรพากรก็มีอำนาจที่จะข้อดูข้อมูลการเงินของผู้เสียภาษีอยู่แล้ว แต่การใช้อำนาจดังกล่าวอาจถูกมองว่าเลือกปฏิบัติ แต่กฎหมายใหม่สถาบันการเงินต้องส่งรายงานธุรกรรมให้กรมสรรพากร ก็เป็นการลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพราะระบบจะเป็นคนทำงานและจะแจ้งเตือนว่าผู้มีเงินได้ใดที่กรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบให้ถูกต้อง

นอกจากนี้ การกำหนดครั้งการทำธุรกรรมก็เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ที่ทำธุรกรรมการเงินปกติและเสียภาษีถูกต้อง เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้กำหนดมองว่า การโอนเงินปีละ 3,000 ครั้ง หรือประมาณวันละ 10 ครั้ง น่าจะเป็นการทำธุรกรรมที่ไม่ปกติและควรได้รับการตรวจสอบ หรือ การโอนเงิน 200 ครั้ง แต่ละครั้งมีจำนวนมาก ก็น่าถูกตรวจสอบว่ารายได้มากจากอะไร และมีการเสียภาษีที่ถูกต้องอยู่แล้ว

“ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย คือ ร้านค้าออนไลน์ที่ยังไม่อยู่ในระบบภาษี ข้าราชการที่ทุจริตมีโอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง และธุรกิจสีเทาผิดกฎหมาย ซึ่งจะเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่กระทบกับผู้เสียภาษีที่ถูกต้อง แต่การออกกฎหมายนี้จะทำให้ประเทศดีขึ้น เพราะจะมีการเสียภาษีให้ถูกต้องมากขึ้น ป้องกันการทุจริตของข้าราชการ และการค้าขายของผิดกฎหมายได้”นายประสงค์ กล่าว

นายประสงค์ กล่าวว่า นโยบายของกรมสรรพากรตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ได้เน้นการเสียภาษีให้ถูกต้อง ผู้ที่อยู่นอกระบบต้องเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้เกิดเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีที่ถูกต้องอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่อยู่ในระบบก็ต้องเสียให้ครบถ้วนกรมสรรพากรจึงมีมาตรการบัญชีเดียวไม่ย้อนหลังเอาผิดขอให้เริ่มเสียภาษีให้ถูกต้อง และในปี 2562 การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินต้องใช้บัญชีที่ยื่นกับกรมสรรพากร หากไม่ทำให้ถูกต้องก็จะไม่ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน