ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของโลก ทำให้เกิดการโยกย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมเข้าสู่ประเทศไทย
โดยเฉพาะกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ หรือ PCB (Printed Circuit Board) ที่มีความสำคัญต่อการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะทำหน้าที่เป็นฐานในการประกอบและเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้าของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ บอร์ดประมวลผลในรถยนต์ AI Server อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์ อุปกรณ์โทรคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อุปกรณ์รับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม เป็นต้น
เนื่องจากศักยภาพและความพร้อมในด้านต่างๆ ของประเทศไทย ที่มีจุดแข็งของไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียรและมีพลังงานสะอาดมากเพียงพอ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีความพร้อมรองรับการลงทุน บุคลากรมีทักษะและความเชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซัพพลายเชนที่ครบวงจร และสิทธิประโยชน์ที่จูงใจจากภาครัฐ
สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่โดดเด่น และมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การผลิตเวเฟอร์ การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
ปัจจุบันประเทศจีนเป็นผู้ส่งออก PCB อันดับ 1 ของโลก ในสัดส่วน 45.7% ของมูลค่าตลาดรวมของโลกที่ 2.6 หมื่ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยมีมูลค่าการส่งออก PCB อันดับ 6 ของโลก และมูลค่านำเข้า PCB อันดับ 7 ของโลก
นายพิธาน องค์โฆษิต นายกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย มองว่าอุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่ากว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าภายในปี 2568 จะมีมูลค่าสูงถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.7 แสนล้านบาท หรือเติบโตเกือบ 6 เท่าตัว เนื่องจากจะมีการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกกว่า 30 โครงการ
ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า ขณะนี้จึงถือเป็นห้วงเวลาสำคัญของการสร้างฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้ง PCB และ PCBA ในประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เห็นได้จากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่ดึงดูดการลงทุนจำนวนมาก
โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้กว่า 535,000 ล้านบาท เฉพาะในปี 2566 มีมูลค่าคำขอสูงถึง 334,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2565 และคิดเป็นสัดส่วน 40% ของคำขอรับการส่งเสริมทั้งหมด
ส่วนอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ของโลกยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของระบบคลาวด์และ Data Center รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้ง Generative AI และ 5G ที่จะทำให้เกิดความต้องการใช้ระบบจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
โดยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ของโลก ปัจจุบัน 80% ของฮาร์ดดิสก์ทั้งโลกถูกผลิตจากประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่อย่างบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (Western Digital: WD) และ Seagate
หากพิจารณาเฉพาะกลุ่ม PCB และ PCBA จะเห็นว่าการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากมูลค่า 15,600 ล้านบาท ในปี 2564 และ 15,900 ล้านบาท ในปี 2565 เพิ่มเป็น 100,860 ล้านบาท ในปี 2566 และยังเติบโตต่อเนื่องในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริม PCB และ PCBA จำนวน 27 โครงการ มูลค่ารวม 36,044 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง
หากเทียบในช่วงเดือนม.ค. 2566-มิ.ย. 2567 มีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB สูงถึงกว่า 140,000 ล้านบาท เทียบกับช่วงปี 2564-2565 ที่มีมูลค่าคำขอเฉลี่ยพียง 15,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น
ดังนั้น บีโอไอจึงได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยขยายขอบเขตการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม PCB แบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งซัพพลายเชน และร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงภายในอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบส่งให้กับบริษัทผู้ผลิต PCB
นอกจากนี้ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน การสร้างโอกาสทางธุรกิจ ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภค นำไปสู่การสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำระดับโลก