นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (นักธุรกิจ) และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (ประชาชน) เดือนส.ค. 2567 ว่า ความเชื่อมั่นหอการค้าอยู่ที่ 50.5 ลดลงต่อเนื่องทุกรายการ เป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ลดลงจากระดับ 57.7 เป็น 56.5 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 13 เดือน
ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคตกลงต่อเนื่อง จากสาเหตุสำคัญคือ เสถียรภาพทางการเมืองของไทยเปราะบาง เพราะเป็นช่วงที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังไม่ชัดเจน และประเทศยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้ภาคการผลิตทั้งต้นน้ำและกลางน้ำยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งเริ่มมีปัญหาน้ำท่วมในภาคเหนือด้วย ด้านผู้บริโภคเองก็ยังมองว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพยังสูง ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสที่ยังคงยืดเยื้อ จึงยังไม่พร้อมใช้จ่ายเงิน
“คาดว่าเดือนก.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้น เพราะรัฐบาล จะอัดฉีดเม็ดเงินดิจิทัล วอลเล็ต ล็อตแรก 1.5 แสนล้านบาท เข้าในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.นี้ คาดว่าจะมีเงินจะสะพัดทันที 3-5 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุกเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ ทำให้จีดีพีทั้งปีโตได้ 2.8% หรืออาจจะลุ้นให้โตได้ถึง 3% ได้แต่ก็ไม่ง่าย โดยต้องจับตาผลจากมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต การเบิกจ่ายงบการท่องเที่ยว การส่งออกว่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องหรือไม่”
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายวงกว้างขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า คาดว่าจะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจราว 1 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อจีดีพีมากนัก เนื่องจากพืชผลเกษตรและภาคการท่องเที่ยวยังไม่ได้เสียหายเป็นวงกว้าง รวมทั้งในเดือนก.ย.นี้ จะมีเม็ดเงินจากดิจิทัล วอเล็ต ราว 1.5 แสนล้านบาท เข้าไปช่วยชดเชยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ยืนยันว่า เม็ดเงินดิจัทัล วอลเล็ต จะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทย ยังไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากปัจจุบันเงินเฟ้อไทยมีอัตราต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ขยายตัวไม่ถึง 1% แต่อาจจะกระทบทำให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจได้แสดงความกังวลกรณีที่กระทรวงแรงงานจะมีการปรับขึ้นค่าแรง เพราะจะเป็นการซ้ำเติมต้นทุน ขณะที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว และยังคงมีปัญหาสภาพคล่อง และหนี้สิน ดังนั้น หากจะมีการปรับขึ้นจริงควรหารือร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อขอเป็นมติจะดีกว่า
นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งอัตราที่ธุรกิจมองว่าเหมาะสมคือ 33.5-34 บาท/เหรียญสหรัฐ