เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 13 ก.ย. 2567 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมติดตามสถานการร์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน มีนายพลากร สุวรรณรัตน์ องคมนตรี เป็นประธาน ที่กรมชลประทาน สามเสน เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าหน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำ น้ำท่วมเมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้าจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ปัญหาเร่งด่วนก่อน โดยเฉพาะการอพยพคนออกจากพื้นที่ ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนและตลอดจนการหามาตรการเยียวยาและฟื้นฟู ขณะที่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งการช่วยเหลืออพยพ หาที่พักพิง ตลอดจนสั่งให้มีการศึกษาหาแนวทางเยียวยาต่อไป
ส่วนของการช่วยเหลืออพยพสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ได้เข้าไปดูแลอย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ไปประจำอยู่ในพื้นที่แล้ว ในส่วนของจังหวัดเชียงรายจะมีโครงการคลองระบายน้ำเลี่ยงเมืองซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจ.เชียงรายในระยะยาว ตอนนี้ก็จะเร่งดําเนินการศึกษาถ้างบประมาณพร้อมการศึกษาพร้อม คาดว่าจะลงมือก่อสร้างได้ในปี 2569 นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าในส่วนของรายละเอียดงบประมาณทางรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่
ด้านนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า แก้ไขปัญหาน้ำท่วมจ.เชียงรายในระยะยาว เป็นแก้ปัญหาตัดน้ำจากแม่น้ำกกที่ไหลผ่านพื้นที่เทศบาลเชียงราย จะตัดอ้อมแนวมาลงกับน้ำแม่ลาว จากน้ำแม่ลาวจะขุดขยายลำน้ำให้สามารถรับปริมาณน้ำที่ผันลงมา ซึ่งจะไปบรรจบกับแม่น้ำกกที่ด้านท้ายของฝายเชียงราย ขณะที่ความยาวตั้งแต่ด้านท้ายของฝายเชียงรายไปถึงแม่น้ำโขง ที่มีระยะทาง 80 กม. ก็จะมีการขุดขยายเพื่อรองรับปริมาณน้ำทั้งหมด ส่วนจุดที่แม่น้ำกกบรรจบกับแม่น้ำโขงจะมีการสร้างประตูระบายน้ำ พร้อมสถานีสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำในช่วงแม่น้ำโขงหนุนสูง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งรัดการศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าว สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ 3 จังหวัด คือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ซึ่ง จ.เชียงราย ยังมีน้ำท่วมอยู่ในพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย ขณะนี้น้ำเริ่มลดลง คาดการณ์ว่าวันที่ 14 ก.ย. 2567 จะเข้าสู่สภาวะปกติ ด้าน จ.เชียงใหม่ ได้รับผลกระทบในพื้นที่อ.แม่อาย ซึ่งน้ำจาก อ.แม่อาย จะไหลสู่แม่น้ำกก ซึ่งจะกระทบกับ อ.เมืองเชียงราย ขณะที่ อ.ฝาง ตอนนี้เข้าสู่สภาวะปกติแล้วอยู่ระหว่างการช่วยเหลือฟื้นฟู
ทั้งนี้ กรมชลประทานจำลองสถานการณ์น้ำในกรณีที่ที่มีฝนตกตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ จึงได้เร่งพร่องน้ำในอ่างฯ เพื่อรักษาระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจจะตกลงมาอีกในระยะต่อไป ควบคู่ไปกับการใช้พื้นที่หน่วงน้ำ เพื่อชะลอน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายน้ำ รวมถึงเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือ และบุคลากร ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากที่จะเกิดขึ้น ด้านสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย ในช่วงวันที่ 9-11 ก.ย. 2567 มีฝนตกหนักมากกว่า 200 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำอิง ซึ่งโครงการชลประทานเชียงราย ได้เร่งระบายน้ำลงสู่คลองระบายน้ำต่างๆ เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำโขง ลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด
ปัจจุบันสถานการณ์ที่ อ.แม่สาย ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่งแล้ว ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันไม่มีฝนตกในพื้นที่แล้ว ในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่และพื้นที่เศรษฐกิจ ระดับน้ำในแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขาลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ อ.แม่อาย และ อ.ฝาง ลำน้ำสาขาระดับน้ำลดลงดำกว่าตลิ่งแล้วทั้งหมด ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวได้ไหลลงสู่แม่น้ำกกและออกสู่แม่น้ำโขงตามลำดับ
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำปิง พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำจากปริมาณฝนที่อาจจะตกลงมาอีกอย่างใกล้ชิด ส่วนที่ จ.แม่ฮ่องสอน เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำลันตลิ่งที่แม่น้ำปาย ส่งผลกระทบพื้นที่การเกษตรในเขต อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จำนวน 600 ไร่ โดยปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งดังกล่าวจะไหลลงสู่แม่น้ำสาละวินต่อไป
สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ ด้วยการควบคุมบานระบายของเขื่อนแม่น้ำชีทุกแห่ง เพื่อเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชีให้ไหลลงแม่น้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว โดยจะต้องควบระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ตลิ่งทรุดและให้มีระดับน้ำที่แพสูบน้ำต่างๆ สามารถลอยน้ำอยู่ได้ ส่วนด้านท้ายน้ำจะพร่องน้ำที่เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด
ขณะที่สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ได้ปรับลดการระบายน้ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำจากทางตอนบนที่ไหลลงมาสมทบ ซึ่งแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งยังช่วยบรรเทาผลกระทบด้านท้ายน้ำด้วย ที่ปัจจุบันมีพื้นที่นอกคันกั้นกั้นน้ำได้รับผลกระทบบริเวณชุมชนแม่น้ำน้อย คลองบางหลวง และคลองบางบาล ด้านภาพรวมปริมาณน้ำทั้งหมดที่กักเก็บได้ในปี 67 ประมาณ 62% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 43% ส่งผลให้ปีนี้มีปริมาณน้ำมากกว่าช่วงเวลาเดียวกัน 4,625 ล้านลูกบากเมตร คาดการณ์ว่าสิ้นสุดฤดูฝน จะกักเก็บปริมาณมาณน้ำได้ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร