แนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board : PCB) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยข้อมูลจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มผลิตภัณฑ์ PCB ในช่วงปี 2561-2566 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2561 มีการลงทุน 6 โครงการ มูลค่า 1,715.40 ล้านบาท ปี 2562 มี 10 โครงการ มูลค่า 10,973.20 ล้านบาท ปี 2563 มี 15 โครงการ มูลค่า 7,625.30 ล้านบาท
ปี 2564 มี 21 โครงการ มูลค่า 15,242.80 ล้านบาท ปี 2565 มี 20 โครงการ มูลค่า 21,774.50 ล้านบาท และปี 2566 มี 45 โครงการ มูลค่า 92,175.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 323.32%
ทำให้เกิดการจ้างงานแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปี 2561 มีการจ้างงาน 950 คน ปี 2562 จ้างงาน 1,786 คน ปี 2563 จ้างงาน 2,368 ปี 2564 จ้างงาน 4,634 คน ปี 2565 จ้างงาน 9,043 คน และปี 2566 จ้างงาน 16,234 คน

จะเห็นว่าเฉพาะปี 2566 เป็นปีที่มีโครงการขอส่งเสริมลงทุนในกิจการ PCB ขยายตัวมากที่สุด และเป็นกิจการที่มีขอรับส่งเสริมลงทุนมากที่สุด จากการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น “ฐานการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลก”

กอปรกับปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามทางการค้า ที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจเข้ามาลงทุน ส่งผลให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิต PCB หลักของอาเซียน

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ณ เดือนก.ค. 2567 พบว่าอุตสาหกรรม PCB ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยมีจำนวน 163 โรงงาน แบ่งเป็นมีกิจการขนาดใหญ่จำนวน 83 โรงงาน ขนาดกลางจำนวน 16 โรงงาน และขนาดเล็กจำนวน 64 โรงงาน
หากเรียงตามเทคโนโลยีการผลิตที่ซับซ้อนจากน้อยไปหามาก สามารถแบ่งประเภทของวงจรพิมพ์ออกเป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย แผงวงจรชั้นเดียว (Single-sided PCB) แผงวงจรสองชั้น (Double-sided PCB) แผงวงจรหลายชั้น (Multilayer PCB) แผงวงจรแบบยืดหยุ่น (Flexible PCB) แผงวงจรแบบแข็งและยืดหยุ่น (Rigid-flex PCB)

เมื่อพิจารณาตามเทคโนโลยีการผลิต พบว่าผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2566-2567 ส่วนใหญ่ คือ ผู้ผลิตวงจรพิมพ์ประเภทแผงวงจรหลายชั้น มีจำนวนประมาณ 16 ราย หรือคิดเป็น 30% ส่วนผู้ประกอบการที่ผลิตวงจรพิมพ์ประเภทแผงวงจรแบบยืดหยุ่น เริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในปี 2567 แล้วจำนวน 4 และการลงทุนในแผงวงจรแบบแข็งและยืดหยุ่น 1 ราย

จากข้อมูลของสมาคมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Association Connecting Electronics Industries : IPC) ระบุไว้ว่า อุตสาหกรรม PCB เป็นอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนสูง เนื่องจากเทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าวงจรพิมพ์ประเภทแผงวงจรแบบยืดหยุ่น และแผงวงจรแบบแข็งและยืดหยุ่น จะมีความต้องการมากขึ้นในอนาคต

ล่าสุดอุตสาหกรรม PCB ของไทย ยังมีสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากเดือนก.ค. 2567 PCB มีมูลค่าส่งออก 120.22 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 9.16% การนำเข้ามีมูลค่า 285.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 98.88% โดย สศอ. ประเมินสถานการณ์อุตสาหกรรม PCB ปี 2567 จะมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สาเหตุหนึ่งมาจากการที่อุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศเริ่มได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566 ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการเตรียมพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี แรงงาน และการจัดการด้านต่างๆ เช่น การใช้สิทธิทางภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น
โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม PCB ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบการลงทุนจากต่างประเทศ หรือเป็นการร่วมทุนกับต่างประเทศ อาทิ ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น ซึ่งกิจการที่เป็นการร่วมทุนหรือลงทุนกับต่างชาติมักมีผู้บริหารเป็นผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติ มีหน้าที่ดูแลควบคุมทางด้านการผลิต การบริหารงานให้เป็นไปตามข้อตกลงของผู้ร่วมทุน

ปัจจุบันรัฐบาลยังคงเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม PCB อย่างต่อเนื่อง โดยผลักดันผู้ผลิตไทยให้จับคู่ธุรกิจและเข้ามาอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้เล่นชั้นนำรายอื่นๆ ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย รวมทั้งส่งเสริมการขยายลงทุนของรายเดิม โดยให้สิทธิประโยชน์เป็นขั้นบันไดสำหรับการลงทุนเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนสูง

“จากนโยบายต่างๆ คาดว่าจะดึงดูดการลงทุนจากอุตสาหกรรม PCB รายใหญ่ของโลกได้อีก 10 ราย สร้างคลัสเตอร์ PCB และจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในส่วนแรกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นโอกาสให้ไทยเติบโตเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลกในอนาคต”

หากในอนาคตการผลิตเกิดขึ้นเต็มกำลังการผลิต การส่งออกจะขยายตัวได้ เนื่องจากแผ่นวงจรพิมพ์ นับเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยสู่ตลาดโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือมติชนร่วมกับคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) จัดสัมมนาเรื่อง “ฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน” ในวันอังคารที่ 17 ก.ย. 2567 เวลา 09.00-13.00 น. ณ ห้องอินฟินิตี้ โรงแรมพูลแมน ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

กำหนดการการสัมมนาเริ่มต้นด้วยการปาฐกถาพิเศษของนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) ขึ้นปาฐกถาพิเศษ และศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ต่อมา กมธ.อว.นำเสนอรายงานการศึกษา โดยนายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) และเปิดเวทีเสวนา 2 เวที

โดยเวทีแรกมีวิทยากร ประกอบด้วย นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ ผศ.ดร.เลิศศักดิ์ เลขวัต รักษาการผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

การเสวนาเวทีที่ 2 มีวิทยากร ประกอบด้วย นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นายพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน