บอร์ดค่าจ้าง ประชุมล่ม! ฝ่ายนายจ้างเท ไม่มาตามนัด อดพิจารณาขึ้นค่าแรง 400 บาท ที่จะให้มีผลใน 1 ต.ค.นี้ กรรมการฝ่ายรัฐบาล-ลูกจ้าง รอเก้อ

วันที่ 16 ก.ย. 2567 ที่กระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เป็นประธานการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ครั้งที่ 8 /2567 ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อให้คณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คน พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในบางประเภทกิจการทั่วประเทศ ซึ่งจะให้มีผลในวันที่ 1 ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัดหมายประชุม 13.30 น. ปรากฏว่ามีเพียงกรรมการฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายลูกจ้างเท่านั้นที่เข้าร่วมประชุม ขณะที่กรรมการฝ่ายนายจ้าง รวม 5 คน ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย

สำหรับกรรมการฝ่ายนายจ้างที่ไม่เข้าร่วม ประกอบด้วย 1.น.ส.ศุภานัน ปลอดเหตุ 2.นายณัฏฐกิตติ์ เขตตระการ 3.นายอรรถยุทธ ลียะวณิช 4.นายเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย และ5.นายชัยยันต์ เจริญโชคทวี

จากการตรวจสอบข้อมูลการประชุมคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่มีการประชุมพิจารณาตัวเลขการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งที่ 3 ของปี 2567 ซึ่งเป็นการพิจารณาจากตัวเลขที่ได้ให้แต่ละจังหวัดนำเสนอมาก่อนหน้านี้ ปรากฏว่ามีถึง 22 จังหวัด ที่ไม่เสนอตัวเลข หรือไม่ประสงค์ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คิดเป็นร้อยละ 28.57 ของจังหวัดทั้งหมด

โดยจังหวัดที่มีมติเป็นเอกฉันท์ จำนวน 18 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี พัทลุง กระบี่ พังงา นราธิวาส ปัตตานี หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ แม่ฮ่องสอน น่าน และนครสวรรค์ ส่วนจังหวัดที่มติไม่เป็นเอกฉันท์ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และลำปาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน