น้ำท่วมดันเงินเฟ้อก.ย.พุ่ง 0.6% คาดไตรมาส 4 ทะยานต่อ ห่วงพิษสงครามบานปลายเผยมาตาการเงินหมื่นดันยอดขายสินค้าค้าอุปโภค-บริโภคเพิ่มขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนก.ย. 2567 ว่า มีค่าเท่ากับ 108.68 เมื่อเทียบกับเดือนก.ย. 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.02 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.61%
ทั้งนี้ เป็นผลจากราคาสินค้าและบริการ ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 2.25% จากการสูงขึ้นของราคาผักสด อาทิ ต้นหอม ผักชี ผักคะน้า พริกสด ผลไม้สด ข้าวสารไข่ไก่ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป ขณะที่หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ราคาลดลง 0.55% จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แชมพู สบู่ถูตัว
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดีเซล ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าโดยสารเครื่องบิน และค่าแต่งผมบุรุษและสตรี เป็นต้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.77% เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่สูงขึ้น 0.62%
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนก.ย. ปรับเพิ่มสูงขึ้น 0.61% เนื่องจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันปีก่อน รวมถึงผักสดบางชนิดมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น หลังได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เพาะปลูก โดยเมื่อมองภาพรวมของราคาสินค้า 434 รายการ ที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อพบว่า มีสินค้าที่ราคาปรับเพิ่มขึ้น 274 รายการ ไม่เปลี่ยนแปลง 49 รายการ และปรับลดลง 107 รายการ”
นายพูนพงษ์ กล่าวถึงเงินเฟ้อไตรมาส 3 ปี 2567 ว่า เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 0.60% ส่วนเงินเฟ้อ เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) สูงขึ้น 0.20% สำหรับแนวโน้มเฟ้อเดือนต.ค.2567 คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 1.25% ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 จะปรับขึ้นอีก เพิ่มสูงขึ้น 1.49% เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศปัจจุบันกำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร รวมทั้งยังจะมีผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะผักสด และ สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน ในช่วงฤดูท่องเที่ยว
“เราปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่ว ปี 2567 จากเดิม 0.0-1.0% เป็นระหว่าง 0.2-0.8% แต่ค่ากลางยังอยู่ที่ 0.5% เท่าเดิม แต่ก็ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เงินเฟ้อปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้า โดยเฉพาะสถานการณ์การรสู้รบระหว่างอิสราเอล และอิหร่าน ที่อาจจะมีการขยายวงและส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น รวมทั้งจะส่งผลกระทบไปยังต้นทุนการขนส่งสินค้าไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังมีผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในประเทศที่อาจทำให้สินค้าปรับราคาเพิ่มขึ้น เช่น ผักสดบางรายการ”
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหารือเพื่อปรับกรอบเงินเฟ้อปี 2568 จาก 1-3% เป็น 1.5-3.5% นั้น สนค. อยู่ระหว่างติดตามการหารือดังกล่าวเช่นกัน
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สนค. ได้ทำการสำรวจผลของมาตรการแจกเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านร้านค้าทั่วประเทศจำนวน 133 แห่ง พบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคมียอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น เช่น ข้าวสาร ยอดขายเพิ่มขึ้น 65.2% ร้านเนื้อสุกร เพิ่มขึ้น 56% ร้านไขไก่ เพิ่มขึ้น 51.5% ร้านไก่สด เพิ่มขึ้น 49.3% ร้านผลไม้ เพิ่มขึ้น 51.1% ร้านขายของชำ เพิ่มขึ้น 61.7% อาทิ น้ำมันพืช เพิ่มขึ้น 37.6% น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้น 90% เป็นต้น ขณะที่ราคาขายส่วนใหญ่คงที่ไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น
“ผลจากมาตรการแจกเงินหมื่นช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในระบบ เห็นได้จากยอดขายสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่ม ขณะที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงไม่ส่งผลกระทบทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ในทางกลับกันผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่กลับมีการแย่งลูกค้ากันด้วยการจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้า ขณะที่ร้านค้ารายเล็กก็ไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา”