ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงการส่งออกข้าวในเดือนก.ย. 2567 ว่า มีปริมาณ 878,711 ตัน มูลค่า 19,463 ล้านบาท โดยปริมาณลดลง 0.8% และ มูลค่าลดลง 3.5% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค. 2567 ที่มีปริมาณ 885,387 ตัน มูลค่า 20,160 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนก.ย. การส่งออกในกลุ่มของข้าวนึ่ง และปลายข้าว มีปริมาณลดลงจากเดือนก่อน ขณะที่การส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิยังคงไปได้ดี
โดยการส่งออกข้าวขาวมีปริมาณรวม 507,795 ตัน ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น อิรัก ฟิลิปปินส์ โตโก แคเมอรูน เคนย่า โมซัมบิก เบนิน ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่การส่งออกนึ่งมีปริมาณ 106,153 ตัน ลดลง 30% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยัง ตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เบนิน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 122,465 ตัน เพิ่มขึ้น 10.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยยังคงส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฮ่องกง โกตดิวัวร์ สิงคโปร์ อิตาลี ออสเตรเลีย เป็นต้น
ส่วนการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) มีปริมาณ 7,448,941 ตัน มูลค่า 172,019 ล้านบาท (4,833.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 22.0% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 45.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ที่ส่งออกปริมาณ 6,103,615 ตัน มูลค่า 117,939.4 ล้านบาท (3,453.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยมีการส่งออกข้าวขาวมากที่สุด 4,702,455 ตัน เพิ่มขึ้น 42% รองลงมาคือ ข้าวหอมมะลิ 1,233,108 ตัน เพิ่มขึ้น 9% ข้าวนึ่ง 814,791 ตัน ลดลง 28.2% ข้าวหอมไทย 487,587 ตัน เพิ่มขึ้น 42.5% และข้าวเหนียว 211,000 ตัน เพิ่มขึ้น 15.7%
โดยผู้นำเข้าข้าวไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย 1,092,128 ตัน เพิ่มขึ้น 20.7% รองลงมาคือ อิรัก 907,7159 ตัน เพิ่มขึ้น 25.1% สหรัฐอเมริกา 609,430 ตัน เพิ่มขึ้น 19.5% แอฟริกาใต้ 580,288 ตัน ลดลง 20.6% และฟิลิปปินส์ 399,493 ตัน เพิ่มขึ้น 246.7%
“คาดว่าเดือนต.ค. จะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 700,000 ตัน เนื่องจากผู้นำเข้าข้าวโดยเฉพาะในแถบแอฟริกายังคงมีความต้องการต่อเนื่อง เพื่อเตรียมไว้ใช้ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ประกอบกับผู้ส่งออกยังมีสัญญาส่งมอบที่ค้างมาจากเดือนก่อน ทั้งจากตลาดหลักในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกา เช่น โมซัมบิก แคเมอรูน เบนิน แองโกล่า และตลาดตะวันออกกลาง เช่น อิรัก เป็นต้น”
นอกจากนี้ ตลาดสำคัญของข้าวหอมมะลิยังคงนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เช่น สหรัฐ แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากนี้ตลาดจะกลับเข้าสู่ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงอีกครั้งเนื่องจากอินเดียได้ยกเลิกมาตรการจำกัดการส่งออก ทั้งการยกเลิกภาษีส่งออกและการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำ ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกของอินเดียสามารถส่งออกได้โดยไม่มีข้อจำกัด ประกอบกับอินเดียยังมีอุปทานข้าวปริมาณมากและราคาค่อนข้างต่ำ จึงคาดว่าอินเดียจะส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่ง ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียตลาดส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งบางส่วนให้แก่อินเดีย
สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวไทยในช่วงปลายเดือนต.ค. 2567 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ท่ามกลางภาวะการแข่งขันด้านราคาในตลาดส่งออกที่รุนแรงขึ้นหลังจากที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งได้โดยไม่มีข้อจำกัดในการส่งออก ทั้งนี้ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 30 ต.ค. 2567 อยู่ที่ 507 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถานอยู่ที่ 524-528, 444-448 และ 461-465 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 522 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดียและปากีสถานอยู่ที่ 439-443 และ 493-497 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม อินเดีย ยังคงเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก โดยในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2567 ส่งออก ปริมาณ 12.20 ล้านต้น รองลงมาคือไทย 7.45 ล้านตัน เวียดนาม 6.96 ล้านตัน ปากีสถาน 4.45 ล้านตัน และสหรัฐอเมริกา 2.50 ล้านตัน