นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องการขายใบอ้อยตามนโยบายของรัฐบาล มีสาระสำคัญว่า การส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยตัดใบอ้อยขายให้โรงงานน้ำตาล แทนการฝังกลบหรือเผา เพื่อลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยนั้น เกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่สามารถขายใบอ้อยได้ทั้งหมด ทุกไร่/ทุกแปลง เนื่องจากมีโรงงานรับซื้อจริงไม่กี่โรง อีกทั้งการขายใบอ้อยต้องขึ้นอยู่กับความหนาของใบ ทำให้ใบอ้อยขายได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น
“แปลงอ้อย 1 ไร่ จะได้ใบประมาณ 1.5 ตัน กรณีใบหนาจะได้ประมาณ 2 ตัน ดังนั้นส่วนใหญ่ที่ได้ 1.5 ตัน รัฐบาลช่วยตันละ 200 บาท รวมเป็นเงิน 300 บาทต่อตัน ซึ่งพ่อค้าคนกลางซื้อใบอ้อยจ่ายให้ชาวไร่ในราคาไร่ละ 100 บาท เท่ากับ 300 บวก 100 เป็น 400 บาทต่อไร่ เฉลี่ยมีอ้อย 10 ตัน ดังนั้นเฉพาะแปลงที่ขายใบอ้อยจะได้เงินเป็นค่าอ้อยตันละ 40 บาท แต่ความจริงคือ ชาวไร่อ้อยขายใบอ้อยได้ไม่ถึง 10-15% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด ไม่สามารถขายใบอ้อยได้ทุกไร่ ทุกแปลง ทุกตันอ้อย ซึ่งโครงการนี้จะช่วยราคาอ้อยได้เพียงประมาณ 100 ล้านตัน คิดเป็นเงินที่ช่วยได้เพียงตันละ 4-6 บาทต่อตันอ้อยเท่านั้น”
ทั้งนี้ แปลงอ้อยที่ขายใบจะเป็นแปลงที่รื้ออ้อยทิ้งเพื่อปลูกใหม่ และต้องอยู่ไม่ห่างจากโรงงานที่รับซื้อใบอ้อยเพราะใบอ้อยมีน้ำหนักเบาไม่คุ้มค่ารถบรรทุกที่จะวิ่งไปขายในระยะทางที่ไกล และการขายใบอ้อยยังต้องรอคิวพ่อค้าคนซื้อใบอ้อยนานกว่าจะมาเก็บม้วนใบอ้อย เนื่องจากเครื่องจักร และอุปกรณ์ม้วนเก็บใบอ้อยมีจำนวนน้อย เพราะราคาแพงไม่คุ้มที่จะลงทุน ดังนั้น ชาวไร่อ้อยรายกลาง รายเล็ก ไม่สามารถจะขายใบอ้อยได้เลย แปลงที่จะเก็บอัดใบอ้อยได้ต้องเป็นอ้อยแปลงใหญ่ที่ใช้รถตัดอ้อยขนาดใหญ่ตัดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากใช้แรงงานคนตัดอ้อยหรือเครื่องตัดอ้อยติดข้างรถไถก็ไม่สามารถเก็บอัดใบอ้อยขายได้ เพราะเมื่อตัดอ้อยแล้วประมาณ 2 สัปดาห์หน่ออ้อยจะแตกหน่อขึ้นมาใหม่ เมื่ออ้อยแตกหน่อขึ้นมาแล้วรถก็ไม่สามารถเข้าไปเก็บใบอ้อยได้เพราะถ้าเหยียบหน่ออ้อย จะเสียหายทำให้อ้อยตายหมด