“สถิตย์” เผยเตรียมเสนอชื่อ “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” และ “กรรมการผู้ทรงวุฒิ” ต่อรัฐมนตรีคลัง 19 พ.ย.นี้ เพื่อดำเนินขั้นตอนต่อไป ยัน คุณสมบัติไม่ขัดต่อกฎหมาย ลั่นประธานบอร์ดไม่มีอำนาจปลดผู้ว่า-แทรกแซงนโยบายการเงิน
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และในฐานะประธานคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ บอร์ดแบงก์ชาติ กล่าวในงาน “ECONMASS TALK EP.1” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ภายหลังมีมติรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแล้วเสร็จเมื่อวานนี้ (11 พ.ย.67) ขั้นตอนต่อเลขานุการฯ จะมีการส่งหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงการคลังภายในวันที่ 19 พ.ย. 2567 เพื่อดำเนินการตามขั้นต่อไป ซึ่งกรณีรายชื่อประธานบอร์ดธปท.รัฐมนตรีคลังในการเสนอชื่อประธานบอร์ดแบงก์ชาติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทูลเกล้าฯ ทรงแต่งตั้งต่อไป ส่วนกรณีกรรมการผู้ทรงวุฒิ 2 ท่าน รัฐมนตรีคลังมีอำนาจสามารถเปิดเผยชื่อได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีคลังเป็นคนตัดสินใจ
อย่างไรก็ดี มีการตั้งคำถามว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะเข้าไปแทรกแซงการดำเนินนโยบายการเงินนั้น มองว่า อำนาจของประธานบอร์ดแบงก์ชาติมีกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธปท.ปี 2551 ระบุอำนาจไว้ชัดเจนว่า ภายใต้โครงสร้างธปท.จะประกอบด้วย 4 องค์กร คือ 1.คณะกรรมการธปท. 2.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยมีผู้ว่าธปท.เป็นประธาน 3.คณะกรรมการสถาบันการเงิน (กนส.) มีผู้ว่าธปท.เป็นประธาน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) ซึ่งทั้ง 3 คณะมีความอิสระในการดำเนินนโยบายไม่ได้อยู่ภายใต้คณะกรรมการธปท.หรือประธานบอร์ดแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันอำนาจหน้าที่ของประธานบอร์ดแบงก์ชาติถูกกำหนดไว้ว่า มีหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการทั่วไปของธปท. โดยเฉพาะในเรื่องของงบประมาณ กำกับโครงสร้างองค์กร ออกข้อบังคับบุคลากร และการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานบริหารจัดการ จึงไม่มีหน้าที่ หรืออำนาจในการเข้าไปแทรกแซงนโยบายการเงิน เรื่องดอกเบี้ยนโยบาย หรือเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ยกเว้นรัฐมนตรีคลังที่มีอำนาจหน้าที่จะเชิญผู้ว่าธปท.เข้ามาหารือถึงประเด็นต่างๆ เพื่อให้นโบบายสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
ขณะที่ความเป็นห่วงในเรื่องของการเข้าไปแทรกแซงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น จะเห็นว่า คณะกรรมการบอร์ดธปท.มีหน้าที่ออกเกณฑ์ในการบริหารจัดการทุนสำรองฯ ได้ แต่ไม่ได้มีอำนาจการบริหารจัดการโดยตรง ซึ่งการออกหลักเกณฑ์ต่างๆ จะต้องมีการหารือภายในคณะกรรมการ และจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน ไม่สามารถทำได้เลยทันที เพราะจะมีความสุ่มเสี่ยงประเด็นความขัดแย้งและวิจารณ์กันอย่างขว้างกวางและคิดว่าไม่มีใครทำ
“ประธานบอร์ดแบงก์ชาติเมื่อถูกคัดเลือกเข้าไปแล้ว จะเป็นคนของธปท.แล้ว ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และจรรยาบรรณของธปท.และเข้าไปแล้วจะต้องเจียมเนื้อเจียมตัว ดังนั้น จะต้องทำงานเคียงคู่กันไปเพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารกลาง โดยไม่สามารถแซงแทรกการทำนโยบายการเงินได้ รวมถึงการปลดผู้ว่าธปท.ไม่ได้ ซึ่งจะปลดผู้ว่าได้นั้นตามกฎหมายธปท.จะต้องมี 2 ข้อ คือ 1.ประพฤติชั่วร้ายแรง และ 2.ปฏิบัติหน้าที่หย่อนสมรรถภาพในหน้าที่ ซึ่งผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ สบายใจได้ ไม่ได้ทำเสียหายหรือหย่อนในหน้าที่ และที่ผ่านมานายพิชัย รัฐมนตรคลัง กับผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิได้มีการพูดคุยด้วยความละมุนละม่อมและเป็นไปด้วยดี”
นายสถิตย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่ดำรงตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ”นั้น ที่คณะกรรมการคัดเลือกมีการพิจารณาอย่างตกผลึกร่วมกัน โดยมีข้อสรุป 2 ด้านสำคัญ คือผู้ที่เสนอเข้ามาทั้ง 3 ท่าน ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฏหมาย คุณสมบัติครบถ้วน นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อดำเนินภารกิจของธปท. ทั้งความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ บัญชี กฎหมายหรือความรู้อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการธปท.
ทั้งนี้ การคัดเลือก “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” จะเป็นการลงคะแนนทางลับ โดยไม่มีใครรู้ลงให้ใคร ซึ่งชุดเอกสารและปากกาจะเป็นชุดเดียวกัน และสิ่งสำคัญการลงมติ คือ กากบาท เป็นกาาให้เลือก ไม่ใช่ไม่เลือก ทั้งนี้ ขณะนี้ ยังไม่สามารถ เปิดเผยรายชื่อผู้ที่ ดำรงตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ”ได้ เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งยังไม่สิ้นสุด
“ดังนั้น ความรู้สึกที่เป็นประธานคัดเลือก มีแรงกดดันตลอดเวลา แต่ต้องยึดตามกฎหมายและยึดหลักการเป็นหลัก เพราะผลที่ออกมาก็เป็นไปตามกฎหมายและหลักการ อะไรที่อยู่ในการดำเนินงานและยังไม่เสร็จสิ้นก็ห้ามพูด และห้ามแซงซั่น”