ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตมั่นใจว่าจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงปีหน้า จากภาคการท่องเที่ยว การส่งออกที่ฟื้นตัว รวมทั้งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง คือปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดจาก MOU 2544 ที่คาดว่าจะทำให้เสถียรภาพการเมืองไทยเปราะบางมากในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า
“ความเชื่อมั่นผู้บริโภคผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และจะปรับตัวดีต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่ค่อยๆฟื้น คาดว่าไตรมาส 4 ปีนี้จะโต 3.5-4% และโตต่อเนื่องจนถึงปีหน้า ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล คือ มาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ1,000 บาท มาตรการแจกเงินหมื่นเฟส 2 ช่วยเหลือผู้สูงอายุ และมาตรการแก้หนี้เฉพาะมาตรการแก้หนี้คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินไหลกลับเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจราว1แสนล้านบาท ผลักให้จีดีพีโตเพิ่ม 0.5-0.7% และยังฉุดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปีหน้าลดลงจาก 89 %เป็น 87% ทั้งนี้หากรวม3มาตรการจะมีเม็ดเงินกลับมาเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ 1.6-1.8 แสนล้านบาท ดันให้จีดีพีปีหน้าโตเพิ่มขึ้นรวม 1.5%หากไม่มีผลกระทบจากสงครามการค้า โดยคาดการณ์ว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะโต 2.8-3.8% ”
นายธนวรรธน์กล่าวว่ามาตรการแก้หนี้จะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และยานยนต์ฟื้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะประคองธุรกิจต่อไปได้ เพราะธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่วนผลงานรัฐบาลในช่วง 3 เดือนแรกว่าสำหรับความตั้งใจในการทำงานเกรดเอ แต่ผลงานนั้นให้เกรดซีบวก ถือว่ารัฐบาลสอบผ่าน เนื่องจากแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดีภายใต้โจทย์เศรษฐกิจที่ยากและท้าทาย