ปี 2567 เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สะท้อนจากหน่วยงานทั้ง ภาครัฐและเอกชน พร้อมใจกันปรับเพิ่มเป้าจีดีพี โดยกระทรวงการคลังปรับเพิ่มจาก 2.4% เป็น 2.7% ขณะที่ภาคเอกชนอย่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็ปรับเพิ่มเป้าจาก 2.2-2.7% เป็น 2.6-2.8% เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าสำคัญที่เริ่มฟื้นตัว
สำหรับในปี 2568 คงต้องมาลุ้นกันว่าเศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน เพราะเป็นปีที่ค่อนข้างท้าทาย หลังจากว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ พาเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ความเสี่ยง ด้วยการประกาศทำสงครามการค้าเต็มรูปแบบกับทุกประเทศ ภายใต้นโยบายทรัมป์ 2.0 เตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับทุกประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ รวมทั้งการเร่งลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีรายได้ในประเทศเพื่อดึงการลงทุนกลับประเทศให้มากที่สุด
มาดูมุมมองและความเห็นของภาคสถาบันการเงินของไทยกันว่ามองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 เป็นอย่างไร
เริ่มจาก KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ฟันธงว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลง ประกาศหั่นจีดีพีปี 2568 ลงเหลือ 2.6% จากเป้าเดิม 3% และเหลือ 2.4% ในปี 2569 เพราะมองว่าเพราะหนี้ครัวเรือนยังสูง ถึง 90% ของจีดีพี, ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดโลก
ภาคบริการขยายตัวช้าลง หลังจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าใกล้ระดับปกติมากขึ้น, การหดตัวของสินเชื่อจะกระทบกับการบริโภคระยะยาว, การเข้าสู่สังคมสูงอายุ และยังมีความเสี่ยงกรณีสหรัฐเตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย ในฐานะที่ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐมากเป็นอันดับที่ 12 ของโลกอีกด้วย
สอดคล้องกับ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ที่ปรับลดจีดีพีปี 2568 เช่นกัน โดยปรับ จาก 2.6% เหลือ 2.4% เพราะมองว่าเศรษฐกิจโลกปี 2568 อาจขยายตัวลดต่ำลงจาก 2.8% เป็น 2.5% เติบโตชะลอลงแบบซอฟต์แลนดิ้ง จากนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่มีส่วนเร่งให้เกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และทำให้เกิดการกีดกันการค้าที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบผ่านการค้า การส่งออก การผลิต และการลงทุนของไทย
ส่วนมุมมองจากนักวิชาการอย่าง นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัว 3% สูงกว่าปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 2.6% เพราะได้แรงหนุนจาก 3 มาตรการของรัฐบาล คือ
1.การแจกเงิน 1 หมื่นบาท เฟส 2 แก่ผู้สูงอายุ 2.มาตรการแก้ปัญหาหนี้เสีย และ 3.ช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาท โดยทั้ง 3 มาตรการจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากถึง 1.6 แสนล้านบาท และจะผลักให้จีดีพีไทยโตเพิ่มขึ้น 1% รวมทั้งยังมีแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวคาดว่าปี 2568 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 40 ล้านคน
แต่ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดเดาได้จนกว่านายทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และเริ่มใช้อำนาจการบริหารงานภายใต้นโยบาย America First
โดยได้ทำแบบจำลองการประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ต่อมาตรการการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐ แบ่งออกเป็น 3 กรณี พบว่า
1.กรณีที่แย่ที่สุด หากไทยถูกสหรัฐขึ้นภาษี 15% และสงครามรุนแรงเป็นระดับโลก จีดีพีไทยปีหน้าอาจโตต่ำแค่ 0.9% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3%
2.กรณีที่ดีกว่า หากไทยถูกขึ้นภาษีนำเข้า 10% จีดีพีไทยจะโตเพิ่มขึ้นเป็น 3.2% และ 3.กรณีที่ดีที่สุด เวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งถูกสหรัฐขึ้นภาษี 20% และสงครามยูเครนยุติ จีดีพีไทยอาจโตเกินเป้าขยายตัวได้สูงถึง 4%
หันมาดูมุมมองภาคเอกชนที่ใกล้ชิดกับวงจรเศรษฐกิจมากที่สุดอย่าง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทยกันบ้าง
โดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธาน กกร. ระบุว่า กกร.ยังมีมุมมองที่ดี และมีความหวังกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2568 หวังว่าจะเติบโตได้ 4-5% แต่มีเงื่อนไขว่ารัฐบาลจะต้องเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปโดยเร็ว คือ ปัญหาหนี้เสีย การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การบริหารจัดการน้ำ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
รวมไปถึงการเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในลักษณะโครงการคูณสอง โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณกึ่งหนึ่ง เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายช่วงต้นปี 2568 เช่น Easy e-Receipt และมาตรการทางภาษีอื่นๆ ซึ่งก็ต้องมาลุ้นกันว่าปี 2568 รัฐบาลจะคลอดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน
ขณะที่นักธุรกิจจากภาคอสังหาริมทรัพย์ นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ออกมาฉายภาพเศรษฐกิจปี 2568 ว่า ยังสามารถเติบโตได้ดีขยายตัวราว 3% เพราะเศรษฐกิจปี 2568 มีปัจจัยบวกมากกว่า ปี 2567 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยว การลงทุนของภาคเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนของต่างชาติช่วง 8 เดือนปี 2567 มีมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่เครื่องยนต์การลงทุนภาครัฐเริ่มกลับมาทำงานเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งดอกเบี้ยทั่วโลกและไทยที่มีแนวโน้มลดลง
ฟากหน่วยงานภาครัฐ นายพรชัย ฐีระเวช ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า ปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 3.0% ต่อปี สูงกว่าเป้าเดิมที่ 2.5-3.5% จากปัจจัยบวก 4 ด้านหลักคือ การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 2.9% การส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.1% ตามอุปสงค์ตลาดโลกและเศรษฐกิจคู่ค้า การท่องเที่ยวจะเติบโตดี มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39 ล้านคน และยังมีแรงสนับสนุนจากงบประมาณปี 2568 ที่พร้อมเร่งเบิกจ่าย ทำให้คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวได้ที่ 2.2% ในปี 2568
การลงทุนจะเป็นอีกกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2568 โดยคาดว่า การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 2.3% ต่อปี เร่งตัวขึ้นจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอ ขณะที่การลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัว 4.7% จากเร่งเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางต่างๆ
ขณะที่ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ว่า จะขยายตัวได้ ในกรอบ 2.3-3.3% ซึ่งมีค่ากลางที่ 2.8% โดยจะมีแรงบวกจากการลงทุนในเรื่องของเซมิคอนดักเตอร์เข้ามาช่วยกระตุกเศรษฐกิจไทย
แต่ก็ไม่ลืมทิ้งท้ายไว้ว่าประเทศไทยคงต้องเฝ้าติดตามนโยบายด้านการค้า การลงทุน ที่ไม่แน่นอนของนายทรัมป์ ว่าจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน
ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายจะเห็นในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปี 2568 ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากนโยบายทรัมป์ ที่ยากเกินจะคาดเดา